กรมป่าไม้ – เกษตรเร่งข้อมูลเรื่องการจัดการที่ดินของคทช. เตรียมรับ ‘บิ๊กตู่’ แจกสิทธิทำกินที่น่าน 23 ธ.ค.

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เชิญผู้แทนหน่วยงาน องค์กร บุคคลและผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้นของ จ.น่าน และแนวทางส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ที่วิหารวัดอรัญญาวาส อ.เมืองน่าน โดยนายนเรศ ฝีปากเพราะ เกษตรจังหวัดน่าน ได้แจ้งว่าวันที่ 16 ธันวาคมนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องนำเสนอข้อมูลต่อผู้ใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ น่านเรื่องการบริหารจัดการตนเองอย่างไร และเรื่องวันที่ 23 ธันวาคม  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการจะเดินทางมา จ.น่าน  ขณะที่มีการจัดลำดับความสำคัญเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน โดยเฉพาะบ้านน้ำป๊าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา จ.น่าน ต.เปือ อ.เชียงกลาง บ้านพี้ อ.บ้านหลวง อ.นาน้อย และอ.สันติสุข พื้นที่เป้าหมายมอบสิทธิทำกินในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามนโยบาย คทช. หรือคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นข้อมูลให้ทีมของนายกฯคัดเลือกอีกครั้ง

พระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าอาวาสวัดอรัญญาวาส ในฐานะประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งกลุ่มและมูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าวว่า จ.น่านเป็นเป้าหมายของหลายหน่วยงานและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย หน่วยงานองค์กรที่ได้รับผลกระทบและผลประโยชน์จากภูเขาหัวโล้นเมืองน่านดังที่ทราบแล้ว ต่างก็อยากจะขึ้นมาช่วยกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่นี่ เพราะถ้าได้รับความเสียหายก็สียหายไปทั่วโดยเฉพาะภาคกลางเกือบทั้งหมดด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องหันมาจับมือกันหาทางออก ถ้าจะเปรียบชาวบ้านตอนนี้คือตกนรกทั้งเป็น เพราะมีหนี้สินสารพัดท่วมตัวไปหมดแล้ว ชาวบ้านอยากได้เงินมาใช้หนี้แต่ปีนี้ราคาข้าวโพดตกต่ำซ้ำเติมเข้าไปอีก เป็นปัญหาและความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวน่านและจังหวัดอื่นที่มีอาชีพคล้ายคลึงกัน สิ่งที่อยากจะฝากไปยังรัฐบาลก็คือไม่อยากให้ทำเหมือนที่ผ่านมา เอางบประมาณลงมาทุ่มแล้วมีการส่งเสริม แต่ไม่ฝึกให้ชาวบ้านบริหารจัดการในสิ่งที่ส่งเสริมนั้น

“รับทราบจากจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร ปลูกพืชผลต่างๆ แม้กระทั่งเลี้ยงไก่ เป็ด ปลา เลี้ยงกบ ปลาดุก ปรากฏว่าเลี้ยงเสร็จแล้วไม่มีตลาด ปลูกพืชผลแล้วไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ไม่รู้จะเอาไปแปรรูปทำอะไรต่อ สุดท้ายก็ฟันทิ้ง ยกเลิก เป็นอย่างนี้อยู่ร่ำไป” พระครูพิทักษ์นันทคุณกล่าว

และว่า อยากฝากให้ส่งเสริมเป็นเบื้องต้น และฝึกชาวบ้านให้เป็นนักการตลาด บริหารจัดการในสิ่งที่ตนเองทำลงไป  และไม่อยากให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขึ้นมาช่วยทำรูปแบบเดิม คือมาส่งเสริมแล้วก็รับซื้อ สุดท้ายชาวบ้านก็เป็นเบี้ยล่างอยู่เหมือนเดิม เปลี่ยนจากข้าวโพดเป็นส่งเสริมปลูกกาแฟ ต่อไปชาวบ้านจะเป็นหนี้เพราะกาแฟอีก เป็นหนี้เพราะปาล์มหรือพืชผลอย่างอื่นไม่สิ้นสุด จะทำอย่างไรให้พืชผลที่ทำแล้วให้เป็นทุน เป็นเงินทองขึ้นมา ให้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงครอบครัว ชุมชนต่อไป แปรรูปและติดต่อซื้อขายโดยชาวบ้านเอง สื่อสารที่ทันสมัยและไม่อยากให้มีพ่อค้าคนกลางเข้าไปควบคุมมากนัก จะทำให้ชาวบ้านอยู่ได้อย่างยั่งยืน ยืนด้วยขาของตนเอง ไม่ต้องรอความช่วยเหลืออยู่ร่ำไปไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดหันมาทำอาชีพอย่างอื่น

Advertisement

น่าน ปลูกป่า2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นมีข้อเสนอจากบุคคลสำคัญที่ได้เชิญมาร่วมวงแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะนายพิทยา จำปาแก้ว ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.น่าน ได้แจ้งกำหนดการมาตรวจราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ วันที่ 14 ธันวาคม 2559 เพื่อเตรียมข้อมูลต้อนรับนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องจัดการที่ดินของ คทช. ได้อบรมและประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้องค์การบริหารส่วนตำบลใน 45 แห่งจากทั้งหมด 99 แห่ง ผู้นำชุมชน มีหลายพื้นที่ทำกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเรื่องมา 10 กว่าแห่ง ภายหลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ออกไปตรวจสอบวัดแนวแปลงสำเร็จไปแล้ว 6 แห่งนำเสนอไปกรมป่าไม้ ล่าสุดได้รับอนุมัติ 2 ตำบล คือ ต.ตาลชุม และโดยเฉพาะต.เปือ อ.เชียงกลางมีหนังสือนำส่งมาจ.น่านให้ดำเนินการได้ ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนต่างๆ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในเวทีรับฟังข้อมูลดังกล่าวมีการนำเสนอปัญหาการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่อาศัยของชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ที่ไม่สามารถเข้ามาจัดการด้วยวิธี คทช. ได้ ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออก เนื่องจากเชื่อว่า คทช. จะสามารถแก้ปัญหาให้คนอยู่กับป่าได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image