กรมอุทยานฯจับ ผอ.สำนักฯ –หัวหน้าอุทยานฯ เอ็มโอยูแก้ “เขาหัวโล้น” ใครทำไม่ได้มีผลต่อความก้าวหน้าและเงินเดือน

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ จะเดินหน้าแก้ปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ บนพื้นที่เขาสูงชันหรือเขาหัวโล้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะเขาหัวโล้นที่ถูกบุกรุกหลังปี 2545 โดยในวันที่ 20 ธันวาคม นี้ ตนในฐานะอธิบดีกรมอุทยานฯ จะทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคสนามทั่วประเทศ ตั้งแต่ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ทั้ง 16 แห่ง หัวหน้าอุทยานฯ 147 แห่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 60 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้น ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยเฉพาะใน 13 จังหวัดภาคเหนือที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ถูกบุกรุกทำลายประมาณ 8.6 ล้านไร่ มีผู้บุกรุกประมาณ 8 แสนคน โดยจะต้องมีการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า การบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยให้หน่วยงานภาคสนามทั่วประเทศดำเนินการแก้ปัญหาโดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี ปี 2545 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของป่า

นายธัญญา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากพื้นที่ใดปรากฏมีร่องรอยการทำประโยชน์ ในภาพถ่ายทางอากาศสีปี 2545 ให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยให้ดำเนินการตรวจสอบและทวงคืนผืนป่าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2560 หากหน่วยงานภาคสนามใดสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ตามกำหนด จะมีการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติราชการในระดับดีเด่นให้กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่เกี่ยวข้อง ถ้าสำนักฯ หน่วยงาน หัวหน้าอุทยานฯ ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ก็จะถือเป็นตัวชี้วัดว่าไม่สามารถปฏิติงานได้ และจะมีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบ ขั้นและเงินเดือน หากสำนักฯ หน่วยงาน หัวหน้าอุทยานฯ ปล่อยให้มีการบุกรุกก็จะมีการพิจารณาลงโทษย้ายประจำกรมทันที

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า การทำบันทึกข้อตกลงระหว่างตนในฐานะอธิบดี กับสำนักฯ หัวหน้าอุทยานฯ ถือเป็นการดำเนินการขั้นแรก เพื่อแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 % ของประเทศภายใน 10 ปี โดยจะมีการนำร่องก่อนใน 13 จังหวัด เป้าหมายคือ เชียงใหม่ น่าน เลย เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง และลำพูน โดยที่กรมอุทยานฯ หนักใจมากที่สุดในขณะนี้คือสภาพเขาหัวโล้นที่อุทยานฯ ดอยภูคา จ.น่าน ที่มีการบุกรุกปลูกข้าวโพด กรมอุทยานฯ จะทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ไปที่อุทยานฯ ดอยภูคา เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้ พร้อมทั้งจะมีการไปตั้งศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และหาเจ้าหน้าที่ที่มีฝีมือไปควบคุม กรมอุทยานฯ จะส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหาร น้ำ ยา รถยนต์เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

เมื่อถามว่ากำลังของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ มีเพียงพอต่อการขึ้นไปควบคุมดูแลพื้นที่เขาหัวโล้นหรือไม่ นายธัญญา กล่าวว่า มีอย่างเพียงพอ ทั้งข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานจ้างเหมา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าอุทยานฯ คนหนึ่งจะต้องคุมเขาหัวโล้นหนึ่งลูก แต่อาจจะต้องดูแล 3-4 ลูกตามลักษณะพื้นที่

Advertisement

เมื่อถามว่ากรมอุทยานฯ ได้มีการสำรวจหรือยังว่ามีพื้นที่เขาหัวโล้นในความรับผิดชอบของอุทยานฯ กี่แห่ง นายธัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หัวหน้าอุทยานฯ ทั่วประเทศไปสำรวจ และต้องส่งคำตอบมาให้ตนภายในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ รวมทั้งพื้นที่บุกรุกก่อนและหลังปี 2545 รวมทั้งพื้นที่ที่ราษฎรครอบครองก่อนมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 จากนั้นวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งจะมีการทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน ตนจะถือจำนวนตัวเลขที่แต่ละพื้นที่ระบุมาเป็นเป้าหมาย ถ้าไม่ได้ตามเป้าหมายแต่ละพื้นที่ก็ต้องรับผิดชอบ

เมื่อถามอีกว่าการทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานร่วมกันมีการให้คุณให้โทษด้วยหรือไม่ นายธัญญา กล่าวว่า มีแน่นอน ถือเป็นดัชนีชี้วัดการทำงานของหน่วยงานในกรมอุทยานฯ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image