รู้จัก ‘ซีเซียม-137’ ใช้ทำอะไร อันตรายแค่ไหนต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

รู้จัก ‘ซีเซียม-137’ ใช้ทำอะไร อันตรายแค่ไหนต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เป็นกรณีที่สังคมไทยจับตา เมื่อวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ที่ติดอยู่ปลายท่อโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี โดยบริษัทไม่รู้ว่าหายไปเมื่อไหร่

ซึ่งคนต่างให้ความสนใจว่า “ซีเซียม-137” นี้ คืออะไร และจะสร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง

สำหรับ ซีเซียม-137 เป็นโลหะที่มีแบบเสถียรและไม่เสถียร มีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีแรงรังสีสูง พบอยู่ในฝุ่นกัมมันตรังสีเป็นสารเปรอะเปื้อนตัวหนึ่งในสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ซีเซียม-137 นั้น ถือเป็นไอโซโทปรังสีที่นิยมนำมาใช้ด้านอุตสาหกรรมมากที่สุดตัวหนึ่ง มีเครื่องมือนับพันชนิดที่ใช้ซีเซียม อาทิ

– เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่ใช้กันในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
– เครื่องวัดระดับ ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวัดการไหลของเหลวในท่อและแท็งก์
– เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นอีกมาก
– เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมการขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นดินและหินต่างๆ
– ใช้ในทางการแพทย์ โดยใช้บำบัดมะเร็ง เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา มาตรฐานสำหรับการปรับเทียบระบบการวัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสี

Advertisement

ส่งผลกระทบ ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ซีเซียม-137 เป็นกัมมันตรังสี เมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยอนุภาคบีตา และรังสีแกมมา พลังงานสูง สลายตัวไปเป็น แบเรียม-137 ทั้งนี้ ครึ่งชีวิตของซีเซียม-137 คือ 30.17 ปี ด้วยสมบัติทางเคมีธรรมชาติของซีเซียม ทำให้เข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย ยากจะทำความสะอาดซีเซียม-137

ทั้งนี้ มนุษย์อาจได้รับซีเซียมจากอาหาร น้ำดื่ม และสูดดมฝุ่น ถ้าซีเซียมเข้าสู่ร่างกาย จะกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อได้รับรังสี จากการวิจัยพบว่ามีปริมาณของโลหะสะสมที่กล้ามเนื้อ มากกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย และพบการสะสมน้อยกว่าในกระดูกและไขมัน

เครื่องฉายรังสีแกมมาที่มีต้นกำเนิดเป็นซีเซียม-137

ความเสี่ยงต่อสุขภาพ

เสี่ยงเป็นมะเร็ง ปกติเราจะได้รับรังสีซีเซียม-137 ในปริมาณที่น้อยมาก แต่หากได้รับรังสีจากกากกัมมันตรังสีในบริเวณที่เปรอะเปื้อน หรือจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งสูง เมื่อเข้าสู่ร่างกาย บางส่วนจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ บางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมาก หรือเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมหรือพันธุกรรม

หากสัมผัสวัสดุกัมมันตรังสีโดยตรง ผู้สัมผัสจะเกิดผื่นแดง หรือเป็นแผลไหม้บริเวณที่สัมผัสวัสดุ หากได้รับในปริมาณรังสีสูงมากๆ จะทำให้เกิดการไหม้ของผิวหนังอย่างรุนแรง อาจส่งผลถึงชีวิตได้

สำหรับกรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงงาน จ.ปราจีนบุรี เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก วัสดุกัมมันตรังสีจะอยู่ในชั้นในสุด หากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่หากมีการถอดประกอบ หรือชำแหละเครื่องกำบัง จนทำให้วัสดุกัมมันตรังสีมีลักษณะเปลือยเปล่า จะมีรัศมีการแผ่รังสีออกจากวัสดุกัมมันตรังสีประมาณไม่เกิน 1-2 เมตร และหากมีการผ่าท่อรังสี จะทำให้ผิวหนังของผู้ที่สัมผัสเนื้อเน่าเปื่อยภายใน 3 วัน

ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส

ลดการปนเปื้อน โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าสามารถทำได้ และควรเก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิท เพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่

ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี

ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย

อาการที่ควรไปพบแพทย์ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังโดนรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา 1 / 2 / 3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image