ชาวเกาะพยาม ร้องค้าน อบต.จับมือนายทุน หลอกทำประชาพิจารณ์พลังงานอัจฉริยะ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.40 น. ชาวเกาะพยามและผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะพยาม ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ราว 20 คน ได้เดินทางมาที่ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการทำประชาพิจารณ์โครงการพลังงานอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีนายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน

นายอนุรักษ์ มณีศรี ชาวบ้าน หมู่  1 ตำบลเกาะพยาม ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านได้บอกว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันประชุมชาวบ้านประจำเดือน ทาง อบต.เกาะพยามได้ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาให้ความรู้เรื่องการใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่างปลอดภัย และได้มีการพูดถึงพลังงานสะอาด ซึ่งในเอกสารมีโลโก้ของการไฟฟ้ฝ่ายผลิต ทำให้ชาวบ้านคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้า หลังจากนั้นได้มีการถามชาวบ้านว่าถ้าเกาะพยามจะมีพลังงานไฟฟ้าสะอาดจะเห็นด้วยหรือไม่ ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดบอกว่าเห็นด้วย และหลังจากวันนั้นได้มีการนำเอารายชื่อการประชุมประจำเดือนของชาวบ้านไปเป็นการรับรองการทำประชาพิจารณ์เรื่องโครงการพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม และพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

นายอนุรักษ์กล่าวต่อว่า ต่อมาได้มีการเปิดให้ชาวบ้านจองมิเตอร์อัจฉริยะ โดยมีการนำของแถมคือเสื้อ และเพาเวอร์แบงก์มาเป็นสิ่งจูงใจ ทำให้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งหลงกลไปทำการจอง โดยเสียค่าจองมิเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 500 บาท ในขณะที่ยังไม่รู้เลยว่าจะดำเนินการผลิตไฟฟ้าตรงไหน ยังไม่มีเสาไฟ ไม่มีสายไฟฟ้าใดๆ และเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมชาวบ้านประจำเดือน และได้มีการนำเรื่องโครงการพลังงานดังกล่าวมาพูดในที่ประชุม โดยบอกว่าผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ทำให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยสงสัยว่าทำตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะในวันนั้นไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดและผลกระทบของโครงการ รวมค่าไฟฟ้าที่จะจำหน่ายให้ชาวบ้าน อีกทั้งไม่ได้มีการบอกว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ ทำให้ในวันนี้ทางตนเองและตัวแทนชาวบ้านจึงต้องการให้ยกเลิกการอ้างผลประชาพิจารณ์ แล้วให้มาคุยรายละเอียดทั้งหมดกับชาวบ้านใหม่อีกครั้ง เนื่องจากชาวเกาะพยามอยู่กันมาหลายสิบปีโดยไม่มีไฟฟ้าจากภาครัฐก็ยังอยู่กันได้ อีกทั้งการท่องเที่ยวของเกาะพยามเน้นเรื่องความสวยงามของธรรมชาติ หากมีการตั้งกังหันลม หรือสวนโซลาร์เซลล์ จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก อีกทั้งการทำสวนโซลาร์เซลล์ที่ใช้พื้นที่จำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อแหล่งต้นน้ำที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยอย่างแน่นอน

Advertisement

201602151552364-20120717140511

ต่อมาผู้คัดค้านทั้งหมดได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงาน อบต.เกาะพยาม (สาขาระนอง) และที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เพื่อให้ทราบถึงเหตุผลการคัดค้านของชาวบ้านต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image