น่าน กระอัก ฝุ่น 411 ไมโครกรัม ปายก็ยังไม่สร่าง เพิ่มเป็น 394 ตามมาติดๆ
วันที่ 7 เมษายน ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ เวลา 07.00 น. สรุปดังนี้ ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ราชบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ชัยภูมิ และ จ.อุบลราชธานี
ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 62-411 มคก./ลบ.ม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 35-218 มคก./ลบ.ม.
ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 42-75 มคก./ลบ.ม.
ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 21-41 มคก./ลบ.ม.
ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 11-24 มคก./ลบ.ม.
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 22 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 33-88 มคก./ลบ.ม.
วันเดียวกัน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2566 ดังนี้
วันที่ 8-13 เมษายน 66 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
อย่างไรก็ตามวันที่ 14 เมษายน 2566 อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ จึงควรเพิ่มการเฝ้าระวัง
พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 8-14 เม.ย.66 โดยในช่วงหลังวันที่ 8 เมษายน 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในภาคเหนือตอนบนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น โดยจังหวัดที่ควรเน้นการเฝ้าระวังได้แก่ จังหวัดเชียงราย และน่าน