ชัชชาติ ปล่อยขบวนสามล้อ-จักรยานยนต์ รณรงค์สงกรานต์พื้นที่ปลอดภัย งดเหล้า ปลอดคุกคามทางเพศ
เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมปล่อยขบวนสามล้อ จักรยานยนต์ รณรงค์ และรับมอบสื่อประชาสัมพันธ์จากนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่เยาวชนตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ ทาง กทม. มีหน้าที่ทำให้สงกรานต์ปี 2566 เป็นสงกรานต์ที่มีความสุข และปลอดภัยกับประชาชนทุกคน โดยต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย และการจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งหากมีปัญหาร้องเรียน ทาง กทม.พร้อมรับเรื่อง เพื่อไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยปัญหาสุราได้วิเคราะห์ข้อมูลจากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูล 3 ฐาน) พบว่า ในปี 2562 ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ช่วงสงกรานต์อยู่ที่ 25.2 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2563 ช่วงโรคโควิด-
19 ระบาด อุบัติเหตุลดลงมาอยู่ที่ 10.9 รายต่อแสนประชากร เนื่องจากมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมสงกรานต์ ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปี 2565 หลังการระบาดเริ่มคลี่คลาย ก็พบว่าตัวเลขอุบัติเหตุกลับมาสูงขึ้น อยู่ที่ 27.2 รายต่อแสนประชากร
ในปีนี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงคาดการณ์ว่าอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเตรียมการอย่างเต็มที่ เพราะเป็นปีแรกที่กลับสู่ภาวะปกติหลังโควิด-19 ระบาด มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งหากปล่อยปละละเลยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและสูญเสียเกิดขึ้นได้
“สสส.และภาคีมุ่งหวังให้เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ประชาชนจะมีความตระหนักในการเล่นสงกรานต์ที่ปลอดภัย โดยการดื่มไม่ขับ ไม่ดื่มสุราบนรถขณะอยู่ในทาง ไม่ทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรง ไม่ลวนลาม ฉวยโอกาส จึงร่วมกับ กทม.ที่จะช่วยกันในการดูแลพื้นที่เล่นน้ำในหลายพื้นที่ให้ปลอดภัย ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และร่วมสืบสานประเพณีที่ดีงาม” น.ส.รุ่งอรุณกล่าว
ด้าน นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความ
ห่วงใย และมีข้อเสนอไปยัง กทม.ดังนี้
1.ขอสนับสนุนนโยบาย กทม. ที่ระบุให้พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอด
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอให้เพิ่มการเฝ้าระวังป้องกัน ปัญหาการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยกับคนทุกช่วงวัย
2.เร่งประชาสัมพันธ์ และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับความผิดซึ่งเป็นผลมาจากการดื่ม อาทิ การดื่มแล้วขับ ดื่มบนรถขณะอยู่บนทาง ทะเลาะวิวาท ตลอดจนความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอาทิ การลวนลาม คุกคามทางเพศ
3.ขอให้กำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียน กรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ มีกลไกช่วยเหลือ ระงับเหตุที่ทำได้จริง และ 4. ขอเรียกร้องต่อประชาชน นักท่องเที่ยว ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง เมื่อพบพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศกิจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่