กรุงเทพฯต้องสว่าง เร่งเปลี่ยนหลอดไฟ สีลม-สาทร ให้เสร็จก่อนสงกรานต์ จ่อขยายอีก 2.5 หมื่นดวง

รองวิศณุ พาดูเปลี่ยนหลอดไฟ LED ถนนสีลม ให้ทันงานสงกรานต์ เล็งขยายเปลี่ยนในถนนสายหลักอีก 25,000 ดวง

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา และคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง บริเวณถนนสีลม เขตบางรัก

นายวิศณุกล่าวว่า นโยบาย “กรุงเทพฯต้องสว่าง” ทำให้ถนนสีลม-สาทรในปัจจุบันนี้ไม่มีไฟฟ้าดับแล้วพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ โดย กทม.แก้ไขซ่อมแซมไฟฟ้าดวงที่ดับบนถนนสาทร 238 โคม ถนนสีลม 118 โคม ถนนรัชดาภิเษก 141 โคม รวมถึงทางม้าลายถนนวิทยุ 3 โคม ซึ่งจากการรายงานผลการดำเนินการสำรวจตรวจสอบและการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะดับในพื้นที่กรุงเทพฯ (6 เมษายน 2566) จำนวน 6,954 เส้นทาง เป็นถนนสายหลักในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา 314 เส้นทาง ซอยย่อยที่สำนักงานเขตดูแล 6,640 เส้นทาง มีจำนวนไฟฟ้าแสงสว่างที่ กทม.ดูแลทั้งหมด 145,314 ดวง ดำเนินการแก้ไขไฟฟ้าดับแล้ว 25,245 ดวง ยังคงดับอยู่ 398 ดวง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขต่อไปเพื่อความปลอดภัยให้ประชาชน

“ส่วนไฟฟ้าส่องสว่างที่หน่วยงายอื่นดูแลประมาณ 150,000 ดวง ทาง กทม.ก็ได้มีการประสานงานเร่งรัดให้มีการแก้ไข และได้มีการรายงานการแก้ไขกลับเข้ามา” นายวิศณุกล่าว

Advertisement

นายวิศณุกล่าวว่า นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับในจุดต่างๆ แล้ว กทม.ยังได้ทยอยเปลี่ยนไฟฟ้าแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าเดิมแบบ HPS (Highpressure Sodium) เป็นหลอด LED (Light Emitting Diode) พร้อมระบบติดตามการทำงานของดวงโคมไฟฟ้า (IoT) ตามแนวคิดของ smart lighting ที่สามารถควบคุมการเปิด-ปิด หรือลด-เพิ่มความเข้มของแสง และตรวจสอบจุดที่ดวงไฟดับได้จากระบบกลาง ซึ่งในเฟสแรกมีเป้าหมายจะเปลี่ยนหลอดไฟ 25,000 ดวง โดยจะแยกการดำเนินการติดตั้งในถนนสายหลักเพื่อเป็นการนำร่องก่อนในช่วงเริ่มต้นโครงการ จำนวน 5,000 ดวง ใน 13 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถนนสีลม 2.ถนนเพลินจิต 3.ถนนเยาวราช 4.ถนนโชคชัย4 5.ซอยมหาดไทย 6.ถนนเอกมัย 7.ถนนพระรามที่ 4 (ช่วงหัวลำโพงถึงสวนลุมพินี) 8.ถนนพระรามที่ 4 (จากซอยอรรถกวี ถึง ถนนสุขุมวิท) 9.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย 10.ถนนราชปรารภ 11.ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 12.ถนนเสนานิคม และ 13.ถนนราชดำริ

“หลอดไฟ LED นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้ว ยังมีอายุการใช้งานยาวกว่า มีการรับประกัน 5 ปี หลอดไฟแบบเดิมใช้งาน 2 ปีกว่าก็เสื่อมสภาพ” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุกล่าวว่า สำหรับการที่ไฟฟ้าดับมี 3 สาเหตุ คือ

Advertisement

1.ตัวหลอดที่เสื่อมสภาพเองตามอายุการใช้งาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ กทม.สามารถเปลี่ยนได้เอง

2.ตัวสายไฟและอุปกรณ์ได้รับความชื้น เบรกเกอร์ชำรุด กรณีที่เป็นปัญหาเรื่องสายไฟชำรุด สายไฟถูกตัดขาด ต้องแจ้งให้กับการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาช่วยซ่อมซึ่งอาจจะใช้เวลา

3.การถูกขโมยสายไฟ หลายจุดได้เข้าไปแก้ไขแล้วแต่ไม่นานก็ดับอีกเนื่องจากสายไฟถูกขโมย

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมกันเป็นหูเป็นตาได้ หากพบเห็นบุคคลต้องสงสัยขโมยสายไฟสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที หรือพบจุดเกิดเหตุ จุดที่ไฟดับ จุดที่มืดเปลี่ยว สามารถแจ้งกับ กทม.ผ่านทางสายด่วน กทม. โทร 1555 หรือช่องทางทราฟฟี่ฟองดูว์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image