ติวสงกรานต์ปลอดภัย เล่นอย่างไรยุคฝุ่นแรง-แดดเผา
เดือนเมษายนของทุกปี ประเทศไทยจะประสบปัญหาอุณหภูมิอากาศสูง บางปีพุ่งถึง 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยไม่นานมานี้เหตุการณ์สูญเสียนักการเมืองท้องถิ่น จ.สมุทรปราการ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม จากโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heatstroke) ทำให้คนไทยหันกลับมามองถึงอันตรายที่มาพร้อมกับความร้อนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของปี 2558-2562 ยืนยันว่าประเทศไทยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนเฉลี่ยปีละ 43 ราย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เนื่องด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง
และสำหรับประเทศไทย ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่มีการเล่นน้ำดับร้อนกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ก็ยังต้องผจญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ดังนั้น อาจจะต้องดูแลสุขภาพอนามัยกันมากเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ฮีตสโตรก นั้น เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากความร้อนอย่างหนึ่งที่สร้างความอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สาเหตุหลักเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับระดับอุณหภูมิในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายมีอุณภูมิสูงมากเกิน 40 องศา เมื่อผิวหนังร้อนและแห้งก็จะไม่สามารถระบายความร้อนในรูปของเหงื่อออกมาได้ ซึ่งส่งผลทำให้ระบบอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ เสียหายและไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ เกิดความดันตก หัวใจวาย ปวดบวมน้ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ในที่สุดหากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ นักกีฬา ทหารเกณฑ์ หรือผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศ ที่มีความร้อนชื้น นอกจากนี้ ภาวะฮีตสโตรกอาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาเสพติด และยารักษาโรคทางจิตเวช
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้ที่มีอาการฮีตสโตรก คือ รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและอากาศถ่ายเทได้ดี คลายเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อน นำผ้าเปียกวางตามร่างกายผู้ป่วย เช็ดตามข้อพับต่างๆ เพื่อทำให้อุณหภูมิเย็นลง เปิดพัดลมเพื่อระบายความร้อน พร้อมกับโทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล (รพ.) หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวควรทำการนวดหัวใจควบคู่ไปกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือเออีดี (AED) และทำตามคำแนะนำจากปลายสายผู้ให้บริการที่เบอร์ 1699
ในส่วนของการป้องกันนั้น ควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี และน้ำหนักเบา หลีกเลี่ยงแดดหรือสถานที่ที่มีอุณหภูมิร้อนจัด ดื่มน้ำให้เพียงแม้จะไม่กระหายน้ำก็ตาม หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง แนะนำให้จัดในช่วงเช้าหรือเย็น เนื่องจากช่วงกลางวันเป็นช่วงที่ร้อนสูงสุด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและขณะต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
สำหรับช่วง เทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนจะออกมาทำกิจกรรมคลายร้อน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์ เล่นสวนน้ำ การแช่น้ำในอ่างหรือสถานที่ท่องเที่ยว คำแนะนำจาก สธ.ในการป้องกันการเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน 1.ควรใส่ใจสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศและอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์รอบตัว ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน และจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้มีการระบายอากาศที่ดี 2.ปรับสภาพร่างกายให้สามารถทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนได้อย่างเหมาะสม ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำโดยการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว 3.สวมเสื้อผ้าเหมาะสมกับสภาพอากาศและระบายเหงื่อ และความร้อนได้ดี และ 4.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด ในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน
นอกจากต้องระวังฮีตสโตรกแล้ว ในเรื่องของการป้องกันฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นพิษ ก็ยังต้องเข้มข้น เพราะเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ จะส่งผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ปอดและระบบทางเดินหายใจ ที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ ไวต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ทําให้อาการหอบหืดกำเริบ
หัวใจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มอัตราการหายใจ เนื่องจากสมรรถภาพการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจวาย และมีผลต่อปริมาณเซลล์ในโลหิต
และระบบไหลเวียนโลหิต ภูมิแพ้กำเริบ หรือแม้แต่ทำให้ตาอักเสบ แห้ง ไปจนถึงผิวหนังอักเสบ เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ต้องเดินทางในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 หนาแน่น อย่าลืม! หาวิธีป้องกันตัวเอง ทั้งการสวมหน้ากากป้องกัน หรือเมื่อถึงที่พักหรือถึงบ้าน ขอให้อาบน้ำทันที หรืออย่างน้อยที่สุด ต้องล้างหน้า และทำความสะอาดร่างกาย
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังเตือนอีก 5 โรค ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ได้แก่ 1.โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา พบว่าตลอดทั้งปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 70,010 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยสาเหตุหลักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวอย่างน้อย 3 ครั้ง อาจมีอาการอาเจียนและขาดน้ำร่วมด้วย โดยส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก อาจทำให้ช็อกหมดสติ และภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง โดยกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสพบโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้
2.โรคอหิวาตกโรค (cholera) ข้อมูลปี 2565 มีผู้ป่วยจำนวน 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.01 ต่อประชากรแสนคน สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Vibrio choterae ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ จะแสดงอาการของโรคภายใน 12 ชั่วโมง ถึง 5 วัน อาการสำคัญ คือ ไข้สูงลอยมากกว่า 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน อาจสูงได้ถึง 40.5 องศา และมีอาการร่วม คือ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืดหรือท้องผูก ถ่ายเหลว หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการเกิดขึ้น เช่น มีอาการเพ้อเพราะพิษไข้ หรืออ่อนเพลีย ซึม ปิดตาไต้ไม่สนิท หรือปิดตาลงได้ครึ่งเดียว รวมถึงอาจมีความรุนแรงจนทำให้เกิดอาการโคม่าได้
3.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น โปรโตซัว หนอนพยาธิ ปรสิต แบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส รวมไปถึงการแพ้น้ำตาลแล็กโทสในนม และการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมี
4.โรคบิด (Dysentery) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มชิเกลลา หรือโปรโตชัวอมีบาในลำไส้ โดยจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระ และเชื้อจะค่อยๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ติดต่อและแพร่ระบาดในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด
และ 5.โรคไวรัสตับอักเสบ เอ และ อี โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำ ได้แก่ ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิด เอ และอี ซึ่งติดต่อโดยการสัมผัสกับสิ่งสกปรกและอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อหรือผู้ที่ติดเชื้อ หรือจากการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ผิดสุขอนามัย