ผู้เขียน | ดร. ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ |
---|
วิกฤตหมอกควัน ทำไมแก้ไม่ได้
ปัญหาหมอกควัน (Haze) ของเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบน มิใช่เพิ่งเกิด มันเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤตในปี พ.ศ. 2549 เมื่อคนเชียงใหม่ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพ ทัศนวิสัยในการมองเห็นเหลือเพียงไม่กี่เมตร นักวิชาการและประชาชนกลุ่มหนึ่งนำผลการวิจัยไปผลักดันรัฐบาลหลายสมัย ให้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ อาทิ สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ปัญหาหมอกควันภาคเหนือได้ถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2550 สมัย พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ภาพโดย อุบลรัตน์ หยาใส่ สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขณะนั้นประเทศไทยกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศด้วยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10 ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง สูงเกินมาตรฐานยุโรปซึ่งอยู่ที่ระดับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีอุบัติการณ์และผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจ ตลอดจนโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 ที่เพิ่มสูงจนน่าเป็นห่วง นักวิชาการจึงผลักดันให้รัฐใช้ค่า PM 2.5 ซึ่งเล็กและมีอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า
พ.ศ. 2561 กรมควบคุมมลพิษได้เปลี่ยนค่ามาตรฐานตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ จาก PM ๑๐ มาเป็น PM ๒.๕ แต่ ค่ามาตรฐาน PM 2.5 ไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 24 ชั่วโมง สูงเป็น 2 เท่าของค่ามาตรฐานกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 24 ชั่วโมง
หลังจากที่กรุงเทพฯ เผชิญวิกฤต PM 2.5 ในปี พ.ศ. 2562 รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกกดดันจากคนเมืองหลวง จึงได้ประกาศว่าปัญหา PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดมาตรการห้ามเผาในที่โล่ง ตรวจจับรถควันดำ ฯลฯ และมีงานวิจัยนับ ๑๐๐ ชิ้นเกี่ยวกับปัญหา PM 2.5 แต่ผลการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาไม่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรม
สิบกว่าปีหลังจากประกาศให้วิกฤตหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทำไมวิกฤตหมอกควัน PM 2.5จึงยังแก้ไม่ได้ และวิกฤตมากขึ้นทุกปี
PM 2.5 คืออะไร เกิดจากอะไร
PM 2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า 1 ไมครอนเท่ากับ 1 ใน 1,000,000 ส่วนของเมตร หรือเล็กกว่าเส้นผมถึง 100 เท่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) หรือเล็กกว่า 0.1 ไมครอน (PM 0.1) ที่เห็นเป็นสภาพคล้ายหมอก (fog) ที่เกิดขึ้นในหน้าหนาว แท้จริงคือ หมอกควัน (smog = smoke + fog) ทำให้ทัศนวิสัยหรือความสามารถในการมองเห็นลดลง และบั่นทอนสุขภาพ องค์ประกอบอื่นๆ ของมลพิษทางอากาศที่มาพร้อม PM 2.5 ได้แก่ เขม่า ไฮโดรคาร์บอน ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ เถ้าจากการเผาสารอินทรีย์ ฯลฯ
PM 2.5เป็นมลพิษทางอากาศที่สามารถเข้าไปถึงส่วนลึกที่สุดของปอด อันได้แก่ถุงลม ซึ่งอยู่ติดกับเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก สามารถทะลุทะลวงเข้าสู่กระแสเลือดได้ เมื่อเข้าไปแล้วก็จะติดอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ไม่ได้กลับออกมาสู่อากาศภายนอกอีกเลย เมื่อเข้าไปติดอวัยวะส่วนใดก็จะทำให้อวัยวะนั้นเกิดพังผืด ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยขนาดที่เล็กมากก็อันตรายอยู่แล้ว แต่ PM 2.5 ยังเป็นตัวพาสารพิษจากแหล่งกำเนิดที่มีการเผาไหม้ต่างกันเข้าสู่ร่างกาย และสร้างปัญหาสุขภาพที่รุนแรงยิ่งขึ้น และแตกต่างออกไปแล้วแต่แหล่งกำเนิด
PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง (open burning) ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า เผาไร่นา เผาใบไม้ เผาขยะ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ทุกชนิด เครื่องบิน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ การผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม การทำอาหารปิ้งย่าง การจุดธูป การสูบบุหรี่ ฯลฯ ดังนั้น ทุกคนล้วนมีส่วนก่อให้เกิด PM 2.5ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย
แต่แหล่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตหมอกควันมากที่สุดในขณะนี้ คือ
การเผาป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ
สิ่งแวดล้อม รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 9 มีนาคม 2566 มีจุดความร้อน (hotspot) สะสมทั้งประเทศ 76,777 จุด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ สูงกว่าตัวเลขสะสม 54,900 จุดในปี พ.ศ. 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 28
สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า จากข้อมูล 30 ปีมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ไฟป่าในประเทศไทยเป็นฝีมือมนุษย์กว่า 99% เกิดจากธรรมชาติไม่ถึง 1% ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการเข้าไปจุดไฟล่าสัตว์หรือหาของป่า การจุดไฟเผาปรับหน้าดินในพื้นที่ไร่ของชาวบ้านที่มีเขตแดนติดพื้นที่ป่า ต่างจากประเทศหนาวที่มีต้นไม้ประเภทต้นสน ที่มีน้ำมันในตัว สามารถลุกเป็นไฟได้เองเมื่อเกิดการเสียดสีกัน ในภาวะที่อากาศแห้งและอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

การเผาป่ามักถูกมองว่าเพราะผู้ที่เผาต้องการให้เกิดเถ้าอันเป็นอาหารของเห็ดถอบ เพื่อจะได้มีเห็ดถอบมากๆ ชาวบ้านจะได้เข้าไปเก็บและสร้างรายได้จำนวนมากในช่วงฤดูกาลนั้น สมัยก่อนเป็นการบริโภคในครัวเรือน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันร้านอาหารพื้นเมือง ต่างนำเสนอเมนูเห็ดถอบกันเกือบทุกร้าน ตลอดปี ส่งผลให้มีอุตสาหกรรมทำเห็ดถอบกระป๋อง เพื่อให้มีเห็ดถอบไว้กินนอกฤดูกาล อุตสาหกรรมนี้เป็นตัวเร่งตัวหนึ่ง ที่ทำให้มีการหาเห็ดถอบธรรมชาติเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเผาป่าเป็นบริเวณกว้างขึ้น
เจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะแถลงข่าวว่า ผู้เผาป่าต้องการจับสัตว์ตัวเล็กๆ ไปเป็นอาหาร เช่น กรณีไฟไหม้ใกล้พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2559 เพียงเพื่อจะจับ ”เขียดแลว” ไปกิน ทำให้เกิดเป็นหมอกควันหนาทึบ และคุกคามสุขภาพ ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ฯ ซึ่งเสด็จมาประทับที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ ต้องทรงบัญชาการดับไฟป่าที่ลุกไหม้ด้วยพระองค์เอง
กรณีไฟไหม้ป่าเชียงรายในปี พ.ศ. 2566 มีการรายงานว่า ผู้จุดไฟต้องการไล่ตัวต่อเพื่อเก็บรังต่อไปกิน แต่ไฟลุกลามเข้าพื้นที่ป่าจนยากที่จะควบคุม สร้างความเสียหายให้สังคมโดยรวมไม่เฉพาะในภาคเหนือตอนบน แต่ PM 2.5 สามารถเดินทางได้ไกลเป็น 1,000 กิโลเมตร ดังนั้น ประชาชนในภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ก็ได้รับผลพวงของการเผาป่านี้เช่นกัน
แต่เห็ดถอบมิใช่แรงจูงใจสำคัญในการเผาป่า ดร.ณัฐสิทธิ์ ศรีนุรักษ์ นักวิจัยด้านผังเมืองและการจัดการพิบัติภัย สถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (ในอนาคตจะเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันพหุศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สืบค้นภาพถ่ายดาวเทียม (Landsat) ของดอยผ้าห่มปก ดอย สุเทพ – ปุย และดอยเต่า พบว่า มีการเผาป่าเพื่อให้เกิดสภาพป่าเสื่อมโทรม เพื่อให้การแผ้วถางทำได้ง่าย แล้วเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มาเป็นสวนผลไม้ บางพื้นที่ป่ากลายเป็นเขาหัวโล้น เพื่อขยายพื้นที่สวนผลไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กรณีของดอยเต่า ดร.ณัฐสิทธิ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำในทะเลสาบแห้งไป 5 ปี เนื่องจากป่าต้นน้ำถูกทำลาย จึงไม่มีน้ำไหลลงสูทะเลสาบเลย เพิ่งจะมีน้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) เนื่องจากปรากฏการณ์แอลนีโญ ทำให้เกิดพายุฝนตกมากกว่าปกติ
ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พ.ศ. 2527, พ.ศ.2543 และ พ.ศ.2563
สภาพป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ถูกเผาแล้วยึดครองทำสวนผลไม้ ถ่าย 9 เมษายน พ.ศ. 2566
การเผาในที่โล่ง – โดยเฉพาะการเผาในพื้นที่เกษตร มีทั้งการเผาเพื่อเตรียมดินก่อนปลูก เพื่อปราบวัชชพืชหรือฆ่าเชื้อราในดิน เผาก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวพืชไร่ประเภทข้าวโพดและอ้อยได้โดยง่าย หรือเผาวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เมื่อการเผาในประเทศไทยถูกสังคมจับตามอง นายทุนใหญ่ที่รับซื้อข้าวโพดเพื่อนำมาเลี้ยงสัตว์ ก็ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ตามแนวชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับประเทศไทย หลังฤดูเก็บเกี่ยวจึงมีการเผาอย่างมโหฬาร เพราะถูกกว่าจ้างแรงงานแผ้วถาง ส่งผลให้เกิดฝุ่นควันพิษทั้งภูมิภาคในขณะนี้

นอกจากนี้ พฤติกรรมการเผาใบไม้กิ่งไม้ และการเผาขยะ แม้จะมีมาตรการห้ามเผาในที่โล่งออกมาบังคับใช้ แต่องค์กรปกครองท้องถิ่นก็มิได้ใช้บังคับ และประชาชนชนบทยังไม่มีจิตสำนึกในการที่จะมีส่วนร่วมลด PM 2.5 จึงยังพบว่า มีการเผาขยะ ใบไม้กิ่งไม่ อยู่ทั่วไป แม้ในยามที่เกิดวิกฤตหมอกควัน
การเผาไหม้ในภาคคมนาคมขนส่ง ประเด็นนี้ไม่ถูกหยิบยกมาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตหมอกควันในภาคเหนือบน เพราะการแก้ปัญหามักมุ่งเป้าไปที่การเผาป่า แต่เชียงใหม่มีสนามบินนานาชาติ มีการขึ้นลงของเครื่องบินไม่เลือกเวลา มีรายงานว่าเมื่อเครื่องบินโบอิ้งเมื่อกำลังลงจอด (Landing) หรือกำลังทะยานขึ้น (Take off) จะเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 ลิตรใน 1 วินาที น้ำมัน 1,000 ลิตร เท่ากับการใช้รถยนต์ หรือจักรยานยนต์ กี่คัน มีการปลดปล่อย PM 2.5 และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้โลกร้อนขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นพิบัติภัยมากขึ้นเท่าไร
นอกจากนี้ เชียงใหม่ยังมีสถิติการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และประเทศไทยมีสถิติการใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก เนื่องจากไม่มีทางเลือกในการเดินทาง ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาหนะส่วนตัวในการเคลื่นย้ายตนเอง
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป นับตั้งแต่มีมาตรการล็อคดาวน์เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชาชนนิยมการสั่งอาหารให้มาส่งตามบ้าน เกิดการใช้จักรยานยนต์เพื่อนำส่งอาหารตามบ้านขวักไขว่ไปหมด ความนิยมจับจ่ายออนไลน์ มีการนำส่งถึงประตูบ้าน ก็เป็นสาเหตุทำให้มีการใช้ยานพาหนะเพิ่มมาก-ขึ้นเป็นเงาตามตัว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตล้วนมีส่วนทำให้ PM 2.5 เพิ่มขึ้น
การผลิตของภาคอุตสาหกรรม – อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การเผาอิฐ ที่ยังคงใช้ฟืนเป็นหลัก และทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ได้ก่อให้เกิดทั้งฝุ่น ควัน และกลิ่น และมีส่วนทำให้ PM 2.5 เพิ่มขึ้น
การปิ้งย่างอาหาร – คนไทยนิยมการบริโภคอาหารแบบปิ้งย่างมาก หากเดินทางเข้าไปตามหมู่บ้าน หรือริมถนนหลวง จะพบแผงจำหน่ายอาหารแบบปิ้งย่างอยู่ทั่วไปไม่ขาดสาย สังเกตได้จากกลุ่มควันที่พวยพุ่งออกมามากมายจากแผงที่กำลังปิ้งย่างอาหาร สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครฯ ได้ทำการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2556 พบว่า ควันจากการปิ้งย่างมีทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เขม่า สารเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง คาร์บอนมอนอกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (Total Volatile Compounds – Total VOCs) ผู้ปรุงอาหารจะได้รับอันตรายจากควันระเหย แม้มีปริมาณไม่มาก แต่เมื่อสูดดมในระยะเวลาที่นาน จะเป็นอันตรายต่อปอด ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับสารก่อมะเร็งจากการบริโภคเช่นกัน
ผลกระทบจากวิกฤตหมอกควัน PM 2.5
ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ – รัฐบาลไม่ได้ตระหนักว่า วิกฤต PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติมากขนาดไหน TDRI รายงานว่า สถานการณ์ฝุ่นควันสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยมหาศาล และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรง ธนาคารโลกประเมินว่าต้นทุนเศรษฐกิจไทย เพิ่มจาก 2.10 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2533 เป็น 8.71 แสนล้านในปี พ.ศ.2556
นอกจากเศรษฐกิจโดยรวมระดับประเทศจะถูกกระทบจาก PM 2.5 แล้ว เศรษฐกิจของครัวเรือนก็ถูกผลกระทบเช่นเดียวกัน การศึกษาของวิษณุ อรรถวานิช ในปี 2562 พบว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยสูงถึง 2.17 ล้านล้านบาท ต่อปี
ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ฝืดเคือง แต่รายจ่ายประชาชนกลับพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด ประชาชนจำต้อวงมี ปัจจัย 7 นอกจากปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ปัจจัย 5 คือ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งหลายคนไม่ประสงค์จะมีแต่จำเป็นต้องมีใช้ เพื่อให้สามารถติดต่อ สื่อสาร ตลอดจนเข้าถึงการให้บริการต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และแม้กระทั่งการเรียนการสอนแบบออนไลน์
ปัจจัย 6 คือหน้ากากอนามัย นอกจากหน้ากากแบบที่สามารถป้องกันไวรัสโควิด 19 แล้ว ยังต้องมีหน้ากากที่มีคุณภาพดีพอที่จะสามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM 2.5 แบบ N95 หรือ KN 94 ซึ่งล้วนมีราคาแพงกว่าหน้ากากแบบปกติ และปัจจัย 7 คือ เครื่องฟอกอากาศในบ้านและในรถ ที่มีประสิทธิภาพให้ปลอดภัยจาก “ภัยทางอากาศ” หากรัฐมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น
ความมั่นคงด้านประชากร (ทรัพยากรมนุษย์) – สังคมหนึ่งจะเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างยั่งยืน ประชากรของสังคมนั้นต้องมีสุขภาพดี และมีอายุยืนยาวเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในการรังสรรค์และพัฒนาสังคม ชีวิตคนเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด การเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร และการเจ็บป่วย ล้วนเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งนั้น TDRI อ้างข้อมูลจาก State of Global Air วิเคราะห์จากข้อมูลจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ว่า พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยเนื่องจาก PM 2.5 รวมทั้งสิ้น 32,200 คน คิดเป็นจำนวน 33.1 คนต่อประชากร 100,000
ในปี พ.ศ. 2564 มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก PM 2.5 สูงถึง 29,000 ราย เป็นจำนวนที่สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน ยาเสพติด และฆาตกรรมรวมกัน
จังหวัดในภาคเหนือตอนบนมีสถิติประชากรเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ทั้งที่จังหวัดเชียงราย ลำปาง และน่าน ติดอันดับ 3,4,5 ที่มีผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดระดับประเทศ ลำปางมีการเผาไหม้ของลิกไนต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทำให้สัดส่วนประชาชนป่วยด้วยมะเร็งปอดมากที่สุดของประเทศ ภาคเหนือตอนบนมีระดับ PM 2.5 เกินมาตรฐานในระดับอันตรายทุกปี นี่เป็นปัจจัยสำคัญของการป่วยด้วยมะเร็งปอดหรือไม่
ที่มา กระทรวงสาธารณสุข หมายเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตเทียบกับจำนวน 100,000 ของประชากร
นอกจากนี้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ชี้ให้เห็นว่า สถิติของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ในจังหวัดเชียงใหม่ มีมากกว่าเดือนอื่นๆ แม้ในขณะนี้ เดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ยังมีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จากโรคที่ถูกกระทบจาก PM 2.5
การศึกษาของ University of North Carolina at Chapel Hill’s Institute for the Environment and the Center for Climate, Health, and the Global Environment จาก Harvard Chan C-Change คำนวณผลการะทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการลงจอดและบินขึ้น (Landing and Take-off Operations: LTO) พบปริมาณความเข้มของ PM2.5 ก๊าซโอโซน (O3) และไนตรัสออกไซด์ (NO2) ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้สนามบินเกิดอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สังคมไทยได้ก้าวสู่ความเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างสมบูรณ์แล้ว โดยโครงสร้างของประชากรที่การเกิดของทารกมีจำนวนน้อยกว่าการทดแทนจำนวนผู้สูงอายุที่มีชีวิต (Below replacement rate) อยู่แล้ว ยิ่งมีประชากรวัยทำงานเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากขึ้นเท่าไร ประชากรวัยทำงานที่เหลืออยู่ยิ่งต้องแบกรับภาระการดูแลสังคมมากขึ้น
น.พ. ธานี ธานียวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดและการปลูกถ่ายปอด ประจำโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า PM 2.5 กระทบโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก เมื่อยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ หากมารดาได้รับ PM 2.5 ปริมาณมาก มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเมื่อโตขึ้น ทารกและเด็กที่ได้รับ PM 2.5 จะมีพัฒนาการที่ช้า โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านสติปัญญา และการเติบโตทางกายภาพ และ ไม่นับความเสี่ยงจากมะเร็งปอดหากหายใจเอา PM 2.5 เข้าไป
หากประชากรในอนาคตของสังคมไทยกลายเป็นคนป่วยจำนวนมาก ด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องกับ PM 2.5 สังคมจะพัฒนาไปอย่างไร
ความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ – ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพดี เป็นปัจจัยพื้นฐานหลักในการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ เราไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากไม่มีอากาศ น้ำ และดิน ที่บริสุทธิ์ การศึกษาของ TDRI ชี้ว่า ต้นทุนที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักก็คือ PM 2.5 คือมลพิษที่กำลังสร้างความเสียหายต่อคุณภาพดิน น้ำ การเติบโตของสิ่งมีชีวิตในป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอด ความยั่งยืนของสังคมไทยในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคตว่า ภาคเหนือจะฝนตกน้อยลง การเก็บรักษาป่าต้นน้ำลำธารจึงสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดของสังคมไทยในอนาคต รัฐเห็นความสำคัญในเรื่องนี้หรือไม่
มิใช่เพียงธรรมชาติในประเทศไทยเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหมอกควัน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลจากภาคคมนาคม และการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ทั้งการเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร กลุ่มมลพิษนี้จะลอยตัวสูงขึ้นไปรวมกันหนาทึบกลายเป็น “เมฆสีน้ำตาลแห่งเอเชีย” (Asian Brown Cloud) เมฆประเภทนี้จะทึบแสง ทำให้แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องผ่านทะลุลงไปได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้การเกิดลมมรสุมน้อยลง เมื่อฝนตกน้อยลง ก็กระทบต่อการเติบโตของพืชและสัตว์ กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และเป็นอันตรายต่อการดำรงเผ่าพันธ์ของมนุษย์

วิกฤตหมอกควัน ทำไมแก้ไม่ได้
คำตอบคือ เพราะภาครัฐไม่เอาจริง ไม่เห็นผลกระทบของ PM 2.5 ว่ามากมายมหาศาลเพียงใด มองปัญหาไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน ขาดวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา และประชาชนยังไม่มีบทบาทในการผลักดันให้มีการแก้ปัญหาเท่าที่ควร
การมองปัญหาไฟไหม้ป่าว่าเป็นเพราะชาวบ้านเข้าไปหาของป่าเป็นมายาคติ และหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าทุกหน่วยงานจำเป็นต้องแถลงต่อสังคมว่า หน่วยงานของท่านทำงานกันอย่างไร จึงปล่อยให้ป่าถูกทำลายมากมายขนาดนี้ เพราะนี่เป็นสาเหตุใหญ่ของปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นซ้ำซากและเลวร้ายลงเป็นลำดับ
คำถาม และข้อเสนอแนะ
– ผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาใช่หรือไม่
– เหตุใดเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมองไม่เห็นข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุใดพื้นที่ป่าจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏในภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่อาจปิดบังว่า มีการเผาและทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่กว้าง ทำให้ป่าลดลงทุกช่วงปี แม้ไม่ต้องใช้ภาพถ่ายดาวเทียมชาวบ้านธรรมดาก็สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตาเปล่า
– จริงหรือไม่ที่ภาครัฐไม่ตระหนักต่อปัญหา และทำงานไม่ประสานกัน
การห้ามเผาขยะ กิ่งไม้ ใบไม้ เหตุใดไม่บังคับใช้อย่างเต็มที่ เหตุใดผู้นำไม่ให้ อสม ซึ่งมีอยู่ทุกตำบล ลงไปให้ความรู้แก่ประชาชนทุกระดับชั้นในสังคมถึงพิษภัยของ PM 2.5 พร้อมนำหน้ากากไปแจกถึงบ้าน ให้ทุกคนสวมหน้ากาก เหมือนตอนช่วงโควิดระบาด ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องเดินทางไปรับหน้ากากที่ศาลากลาง
– ภาครัฐไร้ประสิทธิภาพในการมองปัญหา และแก้ปัญหาหมอกควันอย่างครบถ้วนรอบด้านใช่หรือไม่ ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาแต่ละครั้ง ไม่ได้หยิบยกทุกปัจจัยของการเกิดปัญหามาพิจารณาอย่างครบถ้วน
– เจ้าหน้าที่ของรัฐมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า เพราะปัญหาก็มีอยู่ตรงหน้า และตรงไปตรงมา เหตุใดจึงแก้ปัญหาไม่ได้ หากประชาชนเข้าไปเผาป่าเพื่อเก็บเห็ดถอบ เหตุใดรัฐไม่ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทำฟาร์มเห็ดถอบ เพราะนักวิชาการได้พัฒนาองค์ความรู้จนสามารถเพาะเห็ดถอบ และขายเชื้อเห็ดแล้ว เหตุใดภาครัฐจึงนิ่งเฉย และไม่หาทางแก้ปัญหา
– พื้นที่ป่าที่ถูกเผา จงใจทำให้เสื่อมโทรมนั้น เหตุใดสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการทำสวนผลไม้ เหตุใดไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อเก็บกักน้ำ ในเหตุใดเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นเพื่อการทำสวนผลไม้ หากได้รับอนุญาตให้เช่า เช่าในอัตราไร่ละ คุ้มกับประโยชน์ที่เสียไปหรือไม่
– เหตุใดภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ไม่มีขนส่งมวลชนเพื่อลดการใช้พาหนะส่วนตัว เหตุใดรัฐไม่พัฒนาระบบรางให้มีรถไฟด่วนจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ ตามคำเรียกร้องของภาคธุรกิจและประชาสังคม เพราะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่า ประชาชนและนักท่องท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายมากกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า เกิดมลพิษน้อยกว่า
– เหตุใดผังเมืองกำหนดให้เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองในหุบเขา พัฒนาทางสูง ในเมื่อสภาพภูมิประเทศของความเป็นหุบเขา ก่อให้เกิดสภาพ Inversion คือ มลพิษจะอบอวลและไม่กระจายตัวออกไป โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่มีอากาศเย็นจากประเทศจีนเคลื่อนมากดทับ ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ยิ่งมีการสร้างอาคารสูงบริเวณเชิงดอยสุทพ ก็ยิ่งปิดกั้นการไหลเวียนของลมภูเขา ลมหุบเขา ทำให้เกิดการสะสมของมลพิษในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน ทำให้เกิดวิกฤตหมอกควันซ้ำซาก ประชาชนคัดค้านหลายครั้งแล้ว ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหา หน่วยงานใดจะรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายให้ประชาชนหรือไม่
– มลพิษทางอากาศ PM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรม เช่นการเผาอิฐ มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมากมาย ที่จะให้เขางดการก่อมลพิษ เหตุใดภาครัฐไม่มีกองทุนจูงใจให้เขาเปลี่ยนวิธีการผลิตที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
– การก่อมลพิษทางอากาศจากการปิ้งย่างอาหาร เหตุใดไม่มีการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจให้ใช้เตาแบบไร้ควัน ไร้มลพิษ เพราะมีการพัฒนามาใช้นานแล้ว สามารถลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค
– ในขณะที่ประชาชนเดือดร้อนจากวิกฤตหมอกควัน และต้องการให้มีการแก้ปัญหา แต่ก็มีบางส่วนได้รับประโยชน์จากวิกฤตนี้ เหตุใดรัฐไม่ออกกฎหมายให้ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากมลพิษทางอากาศ อันได้แก่ บริษัทผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศ บริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยหลากหลายรูปแบบ และบริษัทที่จำหน่ายสินค้าเหล่านั้นคืนกำไรให้สังคม ผ่านการเสียภาษีที่นำงบประมาณไปช่วยหน่วยดับไฟป่า การฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ฯลฯ
– เหตุใดรัฐไม่ออกกฎหมายเช่นเดียวกับที่อารยประเทศทำกัน คือ ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่และผลผลิตอื่นๆ ที่ผลิตจากการเผาในทุกกระบวนการ เพื่อกดดันไม่ให้บริษัทใหญ่ไปส่งเสริมการปลูกและเผาในประเทศเพื่อนบ้าน
– เหตุใดกรมควบคุมมลพิษจึงกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพ PM 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง แทนที่จะใช้ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตาใน 24 ชั่วโมง ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
กิจกรรมชวนทำ
– เลิกกินเห็ดถอบป่า หากร้านอาหารมีจิตสำนึก พ่อครัวมีจิตสำนึกต่อปัญหา PM 2.5 ก็ควรเอาเมนูเห็ดถอบป่า ออกจากเมนูเด็ดของร้าน เช่นเดียวกับที่มี Chef ในต่างประเทศที่ถอนเมนูอะโวคาโดออกจากเมนูเด็ดของร้าน หลังจากที่พบว่า ผู้ผลิตอะโวคาโดระดมใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตของอะโวคาโดตามความต้องการของผู้บริโภค แล้วทำให้ผึ้งตายเป็นล้านๆ ตัว เชิญชวนกันบริโภคเฉพาะเห็ดถอบจากการเพาะเลี้ยงดีไหม
– เลิกซื้อสินค้าจากบริษัทใหญ่ที่มีการปลูกพืชโดยปล่อยให้เกษตรกรเผาทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือในประเทศเพื่อนบ้าน
– ผลักดัน เรียกร้อง ให้มีการพัฒนาขนส่งสาธารณะอย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพในเมืองเชียงใหม่ เพื่อลดการใช้พาหนะส่วนตัว
– เรียกร้องให้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ- เชียงใหม่ เพื่อลดจำนวนเที่ยวบินที่จะร่อนลงในแอ่งเชียงใหม่ลำพูน โดยยกเลิกการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของเชียงใหม่ แล้วนำงบประมาณไปพัฒนาระบบรางแทน
– เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค สั่งอาหารและสินค้าเท่าที่จำเป็น เพื่อลดเที่ยวการส่งอาหาร ลดการก่อมลพิษ
– ผลักดันให้มีการทบทวนแนวทางการพัฒนาเมือง และข้อกำหนดผังเมือง ลดความสูงของอาคาร มีการพัฒนาให้เป็นเมืองสีเขียวกว่าในปัจจุบัน
ที่จริงยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็น และช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มิใช่บ่นอยู่เพียงหลังหน้ากากโดยไม่ทำอะไร เราอยู่ในระบบนิเวศน์ของโลกใบเดียวกัน ปัญหาเกิดในชนบท ต่างประเทศ แต่พวกเราต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันทุกคน