รับมือ! ปี 60 ‘ไข้หวัดใหญ่’ ระบาด ‘ไวรัสซิกา’ทารกแรกเกิดถึง 1 ปีเสี่ยงไม่หยุด!!

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพปี 2560” ว่า คร. ได้วิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิด ในปี 2560 โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังมี 4 กลุ่มโรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคไข้หวัดใหญ่ 3.โรคมือ เท้า ปาก และ4.โรคเมลิออยโดสิส โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังสุดในปี 2560 คือ โรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากข้อมูลปี 2559พบผู้ป่วย 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย จึงคาดว่า ปี 2560 จะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการระบาดเป็นวงกว้างมี 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง กรุงเทพฯ ระยอง เชียงใหม่ ภูเก็ต อยุธยา และพะเยา ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงรายจังหวัด โดยพิจารณาจากอัตราป่วยเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ใน 4 กลุ่มโรค พบว่าโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มระบาดปี 2560 เนื่องจากปลายปี2559 เริ่มพบผู้ป่วยแล้ว ซึ่งมีโอกาสพบมากในช่วงฤดูหนาวไปจนถึงฤดูฝนเฉลี่ย 25,000-32,000 รายต่อเดือน จึงขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนอีก 3 โรคแม้จะพบได้ในปี 2560 แต่ไม่ถึงกับระบาดมาก คือ ไข้เลือดออก โดยปี 2559 พบผู้ป่วย 57,425 ราย เสียชีวิต 55 ราย โดยที่ผ่านมามีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าปีหน้าผู้ป่วยโรคจะน้อยลงประมาณ 37,500 ราย ส่วนโรคมือเท้าปาก ปี 2559 พบผู้ป่วย 75,796 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นเด็กเล็กอายุ 9 เดือน–5 ปี แม้ปีนี้จะมาก แต่ปี 2560 คาดว่าจะไม่มากนักประมาณ 42,000 ราย สำหรับโรคเมลิออยโดสิส จากข้อมูลในปี 2559 พบผู้ป่วย 3,171 ราย เสียชีวิต 6 ราย จะพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนของทุกปี โดย ปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 3,000 ราย

ผู้สื่อข่าวถามว่าโรคไวรัสซิกายังต้องเฝ้าระวังในปี 2560 หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ไวรัสซิกา จัดเป็นกลุ่มโรคที่ยังไม่เสถียร จึงยังไม่แยกเดี่ยว แต่จากสถานการณ์ไทยถือว่าพบได้ทั้งปี แม้จะไม่ได้ระบาด โดยปี 2560 ก็จะพบเช่นเดียวกัน ที่น่าห่วงของโรคไวรัสซิกา คือ ผลกระทบต่อผู้ป่วย มีทั้ง1.กล้ามเนื้ออ่อนแรง พบได้ 1 ต่อหมื่นประชากรและ2.ผลกระทบต่อสมองอักเสบ ซึ่งตัวเลขยังไม่ชัดเจนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลสำหรับเด็กแรกเกิดนั้น ไม่ใช่แค่ภาวะสมองเล็กหรือสมองลีบเท่านั้น เรียกได้ว่าต้องระวังภาวะพิการแต่กำเนิด ซึ่งมั้งสมองผิดปกติ ตาบอด หูหนวก รวมทั้งกระดูกไม่เติบโต โดยเฉพาะข้อสะโพก

Advertisement

“หากแม่ถูกยุงกัดตอนตั้งครรภ์ และคลอดทารกออกมา อาจมีโอกาสรับผลกระทบเหล่านี้จากเชื้อซิกาได้ ที่น่ากังวลคือ มีบางรายแม้คลอดออกมาแล้ว ทารกปกติดี แต่เมื่อติดตามไป 5 เดือนถึง 11 เดือน หรือ1 ปีกลับมีภาวะสมองพิการ ภาวะศีรษะลีบได้เช่นกัน ซึ่งพบกรณีนี้ในบราซิล แต่ประเทศไทยยังไม่พบเคสที่ติดตาม มีเพียงทารกคลอดออกมาแล้วศีรษะผิดปกติ 3 ราย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image