ชาวเขา 7 ชนเผ่า ภาคเหนือ 1,700 คน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ทรงให้ชีวิตใหม่”

เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 14 ธันวาคม มูลนิธิโครงการหลวง นำชาวไทยภูเขาจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ปาหล่อง จีนยูนาน ปกาเกอะญอ ลีซอ อาข่า และม้ง พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการหลวง 200 คน รวมทั้งสิ้น 1,741 คน เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานโครงการหลวงจนทำให้มีอาชีพมั่นคง มีรายได้จากการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น โอกาสนี้ได้นำพืชผลจากแปลงของตนเองที่เป็นผลจากการส่งเสริมของโครงการหลวงมาทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อที่สำนักพระราชวังจะได้นำไปทำอาหารให้แก่ประชาชนที่มากราบสักการะพระบรมศพ

นายสุรพล แซ่จาง อายุ 45 ปี ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งในโครงการหลวงห้วยลึก อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ เล่าทั้งยืนถือภาพที่คุณปู่และคุณอากำลังผูกข้อพระกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จฯ ไปพระราชทานที่ดินทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา เมื่อประมาณปี 2520 ด้วยความภาคภูมิใจว่า หลังจากชาวไทยภูเขายื่นฎีกาขอที่ดินทำกิน ปรากฏว่าพ่อหลวงร.9 ได้พระราชทานที่ดินทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา และเสด็จฯ มาด้วยพระองค์เองพร้อมพระราชินี จึงเป็นที่มาของภาพดังกล่าว โดยครอบครัวตนได้รับพระราชทานที่ดิน จำนวน 6 ไร่ ซึ่งคุณปู่เล่าว่า พระองค์ทรงรับสั่งที่พระราชทานที่ดินทำกิน ก็เพื่อให้ทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะได้ไม่ต้องปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย จากนั้นคุณปู่ก็เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชผักผลไม้และดอกไม้เมืองหนาวจวบจนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้ปลูกดอกเบญมาศ ผักสลัดแก้ว ผักกาดขาว และพืชเมืองหนาวอื่นๆ ซึ่งมีโครงการหลวงมาแจกเมล็ดพันธุ์ แนะนำความรู้การ และรับซื้อผลผลิต

“ชีวิตชาวไทยภูเขาดีขึ้นตามลำดับหลังจากพระองค์เสด็จฯ มา จากพื้นที่ปลูกฝิ่นปัจจุบันไม่มีการปลูกแล้ว คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นจากการมีอาชีพและมีรายได้ ผมโชคดีที่เกิดทันเมื่อครั้งทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ มา ตอนนั้น 5-6 ขวบ ยังจำได้ว่าได้รับพระราชทานขนมจากพระองค์ ได้เห็นภาพพระองค์ที่ใกล้ชิดประชาชนอย่างไม่ถือพระองค์ ทรงรักผมเหมือนลูก และผมก็รักพระองค์เหมือนปู่ อย่างไรก็ตาม เสียใจมากที่ทราบข่าวการเสด็จสวรรคต แต่ชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป แม้พระองค์จะไม่อยู่ แต่รอยพระบาทยังอยู่ตลอดกาล ผมจะขยัน จะดำรงชีวิตด้วยการพอเพียง และจะสอนลูกหลานให้เดินตามคำสอนของพระองค์และบอกถึงความภาคภูมิใจนี้ต่อไป” นายสุรพลเล่า

S__4800571
สุรพล แซ่จาง

ขณะที่นายดัว เกียรติยากุล อายุ 59 ปี ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งในโครงการหลวงขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันนอกจากเป็นเกษตรกร ในช่วงฤดูท่องเที่ยวจะเป็นไกด์พาเที่ยวบนดอยอินทนนท์ เล่าว่า เกิดทันเห็นภาพก่อน กลาง และหลังที่พระองค์เสด็จฯ มา จากแต่ก่อนสภาพป่าเสื่อมโทรม ภูเขาอยู่ในสภาพหัวโล้น ราษฎรปลูกฝิ่น ปลูกไร่เลื่อนลอย ขณะที่ตนเป็นเด็กเลี้ยงวัว เลี้ยงม้าตามทุ่งหญ้า พระองค์เสด็จฯ มาครั้งแรกประมาณปี 2512 ทางเฮลิคอปเตอร์ เพราะการเดินทางด้วยถนนยังยากลำบาก พวกเราก็ไปพากันไปรับเสด็จ จากนั้นทรงเริ่มพระราชทานที่ดินทำกินให้ชาวไทยภูเขา เพื่อให้เลิกปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย อย่างครอบครัวตนได้รับพระราชทานที่ดิน จำนวน 41 ไร่ เริ่มแรกเขาก็ทดลองให้ปลูกกระหล่ำปลี ปรากฏไม่สำเร็จจึงเปลี่ยนไปปลูกมันฝรั่งก็ไม่สำเร็จเช่นกัน ภายหลังทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศสามารถปลูกพืชและดอกไม้เมืองหนาวได้ จึงนำพืชและดอกไม้เมืองหนาว เช่น ดอกเบญมาศ ลูกพลับ ลูกท้อ สาลี จากต่างประเทศมาพระราชทานให้ทดลองปลูก ปรากฏว่าปลูกสำเร็จ จึงปลูกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

“39 ปีเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย เดี๋ยวนี้ป่าเขียวชอุ่ม ราษฎรชาวไทยภูเขามีอาชีพ รู้รักษ์ป่าไม่ให้ใครมาทำลาย ดูแลไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า คุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ผมสามารถส่งลูกสาวเรียนปริญญาตรีในกรุงเทพฯ โดยที่ไม่ต้องกู้เรียน นอกจากนี้ผมยังเดินรอยตามคำสอนพ่อหลวง ในเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครัวเรือนประหยัดไปได้มาก และถ้าลูกเรียนจบ คิดว่าจะเปิดรีสอร์ตเล็กรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวดอยอินทนนท์ด้วย” นายดัวเล่า

นายดัว
นายดัว เกียรติยากุล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกราบสักการะพระบรมศพเสร็จสิ้น ชาวไทยภูเขาได้เดินไปที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้า โอกาสนี้ยังร่วมกันยืนตรงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกึกก้องหอประชุม ก่อนเดินข้ามไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก่อนเดินทางกลับ

S__4800570

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image