“มติชน” รับรางวัล “ข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก “

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มอบรางวัล นส.วารุณี สิทธิรังสรรค์ ตัวแทนหนังสือพิมพ์มติชน

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดพิธีมอบรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2559 นับเป็นครั้งที่ 11 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะทูตยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นประธานมอบรางวัล สำหรับรางวัลประเภทหนังสือพิมพ์ปีนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่มีผลงานใดเข้าข่ายรางวัลชนะเลิศ มีเพียงรางวัลชมเชยที่ “มติชน” ได้รับจากผลงานเรื่อง “จุดประกายรัฐบาล สู่การคืนสิทธิ (สุขภาพ) เด็กไร้สถานะบุคคล” และ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ จากผลงานเรื่อง รักลูกให้ “สุด” ทาง นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าวยังมีการเสวนา “บทบาทสื่อในการส่งเสริมการพัฒนาการในเด็กไทย” ด้วย

“มติชน” ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลและหน่วยงานเห็นถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เด็กไร้สถานะบุคคลจำนวนหนึ่งได้รับสิทธิเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป เริ่มจากการตีแผ่ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งในประเทศไทยที่เป็นคนไทยไม่มีสถานะบุคคลชัดเจน เนื่องจากปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ทำให้ยังคงเสี่ยงรับโรคต่างๆ ทั้งวัณโรค มาลาเรีย คอตีบ จนมีการผลักดันนโยบายเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้จัดตั้งกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวม 457,409 คน โดยให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป

ช่วงต้นปี 2558 พบว่า สิทธิของคนไร้สถานะไม่ครอบคลุมอย่างแท้จริง “มติชน” พบปัญหานี้จากการสัมภาษณ์นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ยังมีกลุ่มคนไร้สถานะตกหล่นอีกกว่า 208,631 คน และยังพบบุตรของแรงงานข้ามชาติเกิดในไทย และบุตรของชนกลุ่มน้อยอยู่ในสภาพคนไร้สถานะและสิทธิอีกประมาณ 100,000 คน ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ แม้จะยังไม่ได้รับสถานะบุคคล ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน สมควรได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล จึงมีการเรียกร้องรัฐบาลให้นำกลุ่มคนไร้สถานะเข้าสู่กองทุนคืนสิทธิฯเพื่อให้เป็นไปตามระบบ ส่วนบุตรแรงงานต่างด้าว เมื่ออยู่ในประเทศไทยก็ควรได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

Advertisement

การนำเสนอทั้งข่าว รายงาน ข้อมูลตัวเลขทางวิชาการ ในที่สุด ครม.มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เห็นชอบเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ 208,631 คน เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิฯ ประกอบด้วย 1.ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย 150,076 คน 2.บุตรของบุคคลตามกลุ่มเป้าหมายของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 56,672 คน และ 3.บุคคลกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในโครงการเฉพาะ เช่น บุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา 1,883 คน แม้การขับเคลื่อนที่ผ่านมาจะส่งผลให้คนไร้สถานะ รวมทั้งบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทยมีโอกาสและรับการรักษาพยาบาล

“มติชน” ยังนำเสนอสภาพปัญหาของนักเรียนในสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการให้สิทธิด้านการศึกษาไว้ หรือเรียกว่า “เด็กนักเรียนกลุ่ม G” มีการระบุตัวตน แต่ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขถึง 67,433 คน และยังมีกลุ่มคนดั้งเดิมที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในทะเบียนราษฎรอีก 40,229 คน รวมแล้ว 107,662 คน จากการนำเสนอข่าวกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอ ครม.ขอให้กลุ่มนักเรียนและบุคคลกลุ่มดั้งเดิมได้อยู่ในกองทุนคืนสิทธิฯเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image