อุทยานฯ ตั้งเป้า ปี 60 ทวงคืนผืนป่า 1.07 ล้านไร่ “บิ๊กเต่า”โอดฟื้นเขาหัวโล้นเรื่องยาก

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทส. เป็นประธานในการมอบนโยบายการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) 1-16 และหัวหน้าอุทยานฯ ทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟัง พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงเพิ่มพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ

นายธัญญา กล่าวว่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าต้นน้ำ 13 จ.ภาคเหนือถูกบุกรุกทำลายประมาณ 8.6 ล้านไร่ มีผู้บุกรุกประมาณ 8 แสนคน ส่งผลให้ธรรมชาติเสียหายอย่างหนัก มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 4.69 แสนล้านบาท ภายใต้แผนแม่บทแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ พ.ศ. 2557 จะเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 40 ภายในระยะเวลา 10 ปี กรมอุทยานฯ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงการทำงานร่วมกับ สบอ.เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามแผนแม่บทดังกล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนอ่านแผนแล้วดูดีมาก แต่พิจารณาแล้วมีความเป็นไปได้น้อยที่จะทำได้ ไม่ได้ดูถูก ไม่ได้ปรามาส แต่อ่านจากแผนการเพิ่มพื้นที่ป่าของกรมอื่นๆ คือ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แล้วการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% หรือ 128 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะปีที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานกว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 1 หมื่นไร่ ก็หืดขึ้นคอ ตนคำนวณแล้วต้องใช้เวลา 500 ปี จึงจะเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 40 % ตามเป้าหมาย ดังนั้นป่าที่มีอยู่อย่าให้ลดลงดีที่สุด

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การที่พูดแบบนี้ไม่ใช่การดูถูก แต่เนื่องจากตนไปลงพื้นที่มาเห็นว่าหลายแห่งมีอุปสรรค เรื่องคนและธรรมชาติของพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีความยากง่ายต่างกัน หลายแห่งโดยเฉพาะเขาหัวโล้นดินเสียหมดแล้ว เพราะมีการใช้สารเคมีอย่างรุนแรงปลูกต้นไม้ขึ้นยาก จนต้องเอาหลักวิชาการและเวลามาเป็นตัวช่วย ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว เฉพาะทางของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นๆ ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนในการทำงาน ให้ประสบความสำเร็จ อย่าให้เหมือนสมัยก่อนที่ตนยังไม่เกษียณ กระทรวงกลาโหม เคยลงนามเอ็มโอยูร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อขอใช้ยานพาหนะของทหารในการบินลาดตระเวนตรวจพื้นที่ป่าร่วมกัน แต่โครงการไม่ได้มีความต่อเนื่อง

Advertisement

รัฐมนตรีทส. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในปี 2559 กรมอุทยานฯ สามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้ทั้งสิ้น 1.4 แสนไร่ ส่วนในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 1.07 แสนไร่ หลังจากนี้ในแต่ละพื้นที่ที่ทำเอ็มโอยูกันแล้ว ก็จะมีการตรวจสอบวัดผล และรายงานอย่างเป็นทางการทุกๆ 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสดา) ก็จะรายงานความเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้ตนทราบทุกๆ 7 วัน ส่วนในพื้นที่จะมีการตั้งศูนย์ฟื้นฟูเขาหัวโล้น ไม่ต่ำกว่า 100 ฐานปฏิบัติการในพื้นที่ 13 จังหวัดที่มีปัญหาอย่างรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image