เปิด หลักสูตร กอส. เรียนอะไร 17 สัปดาห์ คอร์สฮิตสีกากี นามสกุลดังเพียบ!

เปิด หลักสูตร กอส. เรียนอะไร 17 สัปดาห์ คอร์สฮิตสีกากี นามสกุลดังเพียบ!

จากกรณีที่มีการเปิดเผยถึงการเลื่อนขั้นของ “ผู้กองสาว” รายหนึ่งที่ใช้เวลาเพียง 4 ปี ก็ได้รับการติดยศแบบก้าวกระโดด จาก ‘ส.ต.ต.หญิง’ ใช้กระทั่ง ติดดาวเป็น ‘ร.ต.อ.’ ภายหลังจากเข้าหลักสูตร กอส. ที่เปิดอบอรมทุกปี ปีละ 4 ครั้ง

อ่านข่าว : เพจแฉยับ ‘ส.ต.ต.หญิง’ 4 ปียศพุ่ง ‘ร.ต.อ.’ หลังเข้าคอร์ส กอส. ขอ ‘โรม’ ช่วยชำแหละ

แล้ว “หลักสูตร กอส.” คืออะไร ?

มติชน ได้สืบค้นและรวบรวมข้อมูล ไว้ให้ดังนี้

Advertisement

เมื่อปี พ.ศ.2558 พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เซ็นรับรอง “เห็นสมควร” ปรับปรุงประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 11 การศึกษา การฝึกและอบรม บทที่ 14 การฝึกอบรมพื้นฐานสำหรับ “ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร” เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยตอนหนึ่ง ได้ระบุถึง “หลักสูตร กอส.” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 หลักสูตรฝึกอบรมพื้นฐานสำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ว่าคือ “หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุ หรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร” ใช้คำย่อว่า กอส.

Advertisement

โดย แบ่งออกเป็น

1.ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนผู้มีคุณวุฒิระดับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหมายถึงข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
– ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาตามระเบียบของทางราชการ
– ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ไปศึกษาตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
– ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาตามความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
– ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เข้ารับการฝึกอบรม

2.ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนซึ่ง “บรรจุจากบุคคลภายนอก” บรรจุกลับ หรือโอนมา โดยการบรรจุหรือรับโอนในฐานะผู้มีคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญา หรือประกาศนียบัตร และมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร

3.ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งบรรจุจากบุคคลภายนอก หรือโอนข้าราชการซึ่งไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ หรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ หรือบรรจุข้าราชการซึ่ง “ไม่ใช่” ข้าราชการตำรวจ หรือพนักงานของ อปท. กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ

ทั้งนี้ ข้าราชการตำรวจ ตามข้อ 1-3 หากสำเร็จการศึกษาหรือการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานในระดับชั้นสัญญาบัตรหรือหลักสูตรอื่นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแล้ว ไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนี้อีก

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะถือว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรม จะต้องมีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด ไม่ถูกตัดคะแนนความประพฤติเกิน 40 คะแนน และสอบได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

นอกจากนี้ ในเอกสารยังระบุด้วยว่า การฝึกอบรมหลักสูตรอื่นๆ อีก 3 หลักสูตรนั้น จะเปิดให้อบรม 1 ครั้งในเดือนพฤศจิการยน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องฝึกอบรมมากกว่าปีละครั้ง ต้องเสนอความเห็นชอบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน

ในจุดนี้ เพจเฟซบุ๊ก เพื่อนตำรวจ ได้ระบุไว้ว่า “หลักสูตร กอส.เปิดอบรมทุกปี ปีละ 4 ครั้ง ทว่าทำไมหลักสูตรอื่นๆ ต้องขออนุญาตก่อน”

คุณสมบัติผู้เข้าเรียนหลักสูตร

อย่างไรก็ตาม 3 คุณสมบัติเด่นๆ ที่สามารถสมัครเข้าเรียนหลักสูตร กอส. ได้ คือ

1.พ่อแม่เป็นตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่
2.ขาดแคลนบุคลากรด้านนั้นๆ เช่น งานเฉพาะทาง
3.ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ เช่น นักกีฬาทีมชาติ

หลักสูตร เรียนอะไรบ้าง?

ตามข้อมูลจากเอกสารหลักสูตรการฝึกอบรมพื้นฐาน สำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2562 โดยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ระบุไว้ว่า

หลักสูตร กอส. เรียนทั้งหมด 17 สัปดาห์ 4 วัน ประกอบด้วย ภาควิชาการ 16 สัปดาห์ ภาคปฎิบัติ 1 สัปดาห์ 4 วัน ประกอบด้วย

  • วิชาพื้นฐาน 330 ชั่วโมง
  • วิชาเฉพาะ 170 ชั่วโมง

แบ่งเป็น กฎหมายเบื้องต้นสำหรับตำรวจ กฎหมายอาญาสำหรับตำรวจ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับตำรวจ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำหรับตำรวจ ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี งานสารบรรณตำรวจ ฝ่ายอำนาจการตำรวจ และการฝึกยุทธวิธีตำรวจ

ขณะที่ “ภาคสนาม” ประกอบด้วย การฝึกอบรมหลักสูตรข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ 28 ชั่วโมง (4 วัน) และศึกษาดูงานหน่วยงานตำรวจ ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์

สำหรับ หลักสูตร กอส. ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู แต่มีบทความวิเคราะห์มาอย่างต่อเนื่องว่า “ควรจะมีต่อไปหรือไม่”

โดยเฉพาะเมื่อต่อมา มีการรับทายาทข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และรับนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ มาเป็นตำรวจ มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละ 1 รุ่น จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มี คนดัง ลูกไฮโซ นามสกุลดัง มักจะสมัครเรียน และติดยศเป็นข้าราชการตำรวจ

ดังเช่น กอส. รุ่นที่ 45 ก็ได้รับขนานนามว่า “รุ่นเทพ” เพราะมีคนดังคุ้นหูจำนวนมากจบจากรุ่นนี้

ไม่ว่าจะเป็น สงกรานต์ เตชะณรงค์ ทายาทโบนันซ่า “พัตเตอร์” เตชธร จามิกรณ์ น้องชายแท้ๆ ของนางเอก “แพนเค้ก” เขมนิจ จามิกรณ์ เป็นอีกคนที่เคยถูกดราม่าครหา ใช้เส้นใหญ่มาเป็นตำรวจ สุดท้ายก็แจงว่า ไม่ได้ใช้เส้นอะไรแต่ผ่านการอบรม กอส. รุ่น 45 อย่างถูกต้อง

ล่าสุด  มีผู้จบหลักสูตร กอส. หลายคนเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจสีเทา”

ดังเช่น สารวัตรไบร์ท-ร.ต.อ.คุณากร ขจรบุญถาวร เรียน กอส. รุ่นที่ 40 และตามข้อมูลของนายชูวิทย์ ยังระบุไว้ด้วยว่า มีคนชื่อ รูบี้ เป็นคนสนิทของสารวัตรซัว เพราะเป็นรุ่นน้องโรงเรียนเดียวกัน จบ กอส. รุ่น 42

เมื่อปี 2563 ก็เคยมีข่าว “ไฮโซจิมมี่” ร.ต.อ.อัครวินทร์ เตชะอุบล ทายาทนักธุรกิจพันล้าน ซิ่งรถหรูป้ายแดง ออกจากผับตอนเช้าตรู่ แล้วก่อเหตุชนชนคนขายลูกชิ้นตายคาถนน แล้วหนีไปตั้งหลักทั้งวัน กว่าจะเข้ามอบตัวในตอนเย็น ก็ไม่วายเป็นตำรวจที่ผ่านหลักสูตร กอส. รุ่น 41

อย่างไรก็ตาม มีสื่อรวบรวมนามสกุลคนดัง ที่ส่งลูกหลานมาอบรม กอส. ก็เช่น

“แสงสิงแก้ว” “ธารีฉัตร” “เปลี่ยนสี” “กุลดิลก” “เตชะอุบล” “ลิ้มสังกาศ” “เหรียญราชา” “ทรวดทรง” “เมฆหมอก” “สุขวิมล” “วรรณภักตร์” “ชิงดวง” “ขลิบเงิน” “วัฒนะ” “ภุมมา” “ธาตุศาสตร์” “เมธาวัธน์” “โกมลวรรธนะ” “วงษ์ปิ่น” “สายันประเสริฐ” “สุวรรณจรัส” และ “เตชะณรงค์”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image