กลุ่มชาติพันธุ์วอนรัฐ ช่วยเด็กกลุ่มจี ได้สิทธิ’รักษาฟรี’ หลังภาระตกหนัก’รพ.-ครู’

ภาพจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุมิตร วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง องค์การแพลนประเทศไทย กล่าวภายหลังลงพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมค้นหาและติดตามปัญหาที่เด็กนักเรียนรหัสจี (เด็ก G) ใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ว่า “เด็กจี (G) หรือเด็กรหัสจี หมายถึงเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ และไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ตลอดจนขาดสิทธิในด้านอื่นๆ ตามที่พลเมืองไทยได้รับ เว้นเสียแต่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยที่โรงเรียนจะมีระบบการคัดแยกเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ด้วยการระบุอักษร G นำหน้าเลขประจำตัวประชาชน

นายสุมิตรกล่าวว่า ปัจจุบันสำรวจพบเด็กนักเรียนติดรหัส G ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย จำนวน 67,433 คน ซึ่งใน อ.ฝางมีอยู่ประมาณ 1,500 คน โดยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเด็กนักเรียนรหัสจีนั้นเริ่มต้นที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรงเรียนชายขอบ กล่าวคือ เมื่อโรงเรียนเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ในแต่ละภาคเรียนจะมีการเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ หากพบว่าเด็กคนใดไม่มีหลักฐานแสดงตัวตน หรือเอกสารที่ระบุสถานะการเป็นพลเมืองไทย (เลขประจำตัว 13 หลัก) ทางโรงเรียนจะดำเนินการสอบประวัติและส่งข้อมูลให้กับสำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อดำเนินการกำหนดหมายเลขประจำตัวนักเรียน 13 หลัก ประเภทเด็กนักเรียนรหัสจี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กในราชอาณาจักรไทยทุกคนที่ต้องการเรียน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นประชากรไทยหรือไม่

“แม้โรงเรียนจะไม่ได้แบกรับภาระโดยตรง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายหัวของเด็กนักเรียนรหัสจีจากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ภาระต่างๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ได้ตกไปอยู่ที่ครู ผู้ปกครอง และโรงพยาบาลในท้องถิ่น เนื่องจากพวกเขาไม่มีสิทธิรักษาฟรีก็ต้องจ่ายค่ารักษา ถ้าจ่ายไม่ได้ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาล” นายสุมิตรกล่าว

นายสมจิต อุดมโชคมหาศาล หัวหน้างานเวชระเบียน โรงพยาบาลฝาง กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ โรงพยาบาลต้องให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ แต่กรณีที่มีเด็กกลุ่มจีเข้ามารับการรักษา จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากยังไม่มีสถานะเป็นพลเมืองไทย ดังนั้นเมื่อเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น บางครั้งครู หรือผู้ปกครองที่พาเด็กมารักษาตัวต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่กรณีที่ไม่มีเงินชำระค่ารักษาได้ ทางโรงพยาบาลก็ต้องทำสัญญาการผ่อนชำระ และมีระบบการติดตามหนี้สิน ท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่สามารถติดตามหนี้สินได้ก็กลายเป็นหนี้สูญของโรงพยาบาล ปัจจุบัน รพ.ฝางต้องแบกรับหนี้สูญกว่า 10 ล้านบาท

Advertisement

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และในนาม 37 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพ กล่าวว่า สิ่งที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 37 องค์กร ร่วมกันเรียกร้องอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ มิได้หมายถึงการให้สิทธิในสัญชาติโดยทันที หากแต่เป็นการเรียกร้องให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับบริการด้านสุขภาพที่มนุษย์ทั่วไปพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และอยากให้มีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่อันล้ำค่าแก่เด็กๆ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image