แฉกลางวงถกกทม.! จำใจจ่ายใต้โต๊ะ ไม่งั้น ‘เจอดอง’ อนุญาตก่อสร้าง เปย์เยอะยิ่งไว จวก กม.ล้าหลัง ซ้ำซ้อน

แฉกลางวงถกกทม.! จำใจจ่ายใต้โต๊ะ ไม่งั้น ‘เจอดอง’ อนุญาตก่อสร้าง เปย์เยอะยิ่งไว จวก กม.ล้าหลัง ซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ชั้น 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา “การยื่นขออนุญาตออนไลน์ และกฎหมายควบคุมอาคารใน กทม.”

โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ น.ส.อุไรรัตน์ จันทรศิริ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายสุรัตน์ พิมศักดิ์ อุปนายกฝ่ายนิติกรรม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน นายชาญณรงค์ แก่นทอง อุปนายกสภาสถาปนิก รศ.เอนก ศิริพานิชกร กรรมการควบคุมอาคาร อนุกรรมการสภาวิศวกร ศ.นาวาโท ไตรวัฒน์ วิรยศิริ อาจารย์ทรงคุณวุฒิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวิศณุ กล่าวว่า เรื่องการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นปัญหาที่ กทม.ได้รับการร้องเรียนมานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ปัญหาการพิจารณาล่าช้า ซึ่งการยื่นขออนุญาตออนไลน์ก็เป็นทางออกหนึ่ง เพราะทำให้ทราบว่ามีการยื่นขอเข้ามาเมื่อไร มีข้อติดขัดอย่างไร และสามารถติดตามจากบันทึกในระบบได้ นอกจากนี้ยังมีการนำ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เข้ามากำกับร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้การพิจารณาอนุญาตอยู่ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

Advertisement

2.ปัญหาการใช้ดุลพินิจ กทม.ได้พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการจัดทำมาตรฐานในการพิจารณาเป็น checklist เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้นและเจ้าหน้าที่มีแนวทางการพิจารณาที่เหมือนกันในทุกเขต รวมถึงการจัดทำคู่มือการขออนุญาตก่อสร้างประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนรับทราบด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ

3.ปัญหากฎหมายควบคุมอาคารไม่ตรงกับบริบทของกรุงเทพฯ เนื่องจากปัจจุบันเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้วแต่กฎหมายยังไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัย ทำให้การดัดแปลงแก้ไขอาคารจะทำได้ยากเพราะต้องทำให้เข้ากับกฎหมายใหม่ เช่น ระยะร่น ที่จอดรถ ซึ่งตึกแถวเก่า ๆ ไม่สามารถทำได้ เป็นต้น ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายวิศณุ กล่าวว่า โจทย์การเสวนาในวันนี้ เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การอนุญาตก่อสร้างอาคารมีความโปร่งใส คล่องตัว ตรวจสอบได้ ลดการใช้ดุลพินิจของผู้พิจารณาคำขอ และรวบรวมประเด็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขข้อบัญญัติหรือกฎหมายควบคุมอาคารให้สอดคล้องกับบริบทเมืองมากยิ่งขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ กทม.ได้มีการดำเนินการในเรื่องการขออนุญาตออนไลน์มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านพักอาศัยพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะระบบยังค่อนข้างใช้ยาก ซึ่งจะเร่งดำเนินการแก้ไขระบบให้ใช้ง่ายมากขึ้น คาดว่าการปรับระบบจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2566

นายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กล่าวเสริมว่า สำหรับประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคารได้ที่สำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาได้ตั้งแต่เรื่องการซื้อที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจะสามารถสร้างอะไรได้บ้าง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งการอนุญาตแล้วเสร็จ

นายสุรัตน์ พิมศักดิ์ อุปนายกฝ่ายนิติกรรม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มีการดองการขออนุญาตก่อสร้าง ทำให้ต้องไปพูดคุยเจรจาต่อรองผลประโยชน์ ผู้ยื่นขออนุญาตไม่มีใครอยากจะจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่หลายครั้งรอไม่ไหวก็ต้องจำยอมจ่ายไป ตนพยายามลองใช้การยื่นแบบทางออนไลน์ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพิ่งได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่ามา แต่ กทม.กำลังออกระบบใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

“จากการสอบถามสมาชิกในสมาคมฯ เรื่องการยื่นแบบออนไลน์ ได้รับคำตอบว่าระบบมันยุ่ง ยื่นยาก พอโทรถามเจ้าหน้าที่เขต ได้รับคำแนะนนำอย่างดีว่าถึงคุณยื่นมา ก็ต้องมายื่นเอกสารตัวจริงอยู่ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะตามเรทราคา ถ้าจ่ายเยอะก็จะได้อนุญาตเร็วขึ้น ทั้งนี้ ถ้ากฎหมายมีความชัดเจน ไม่ต้องมีคำว่าอำนาจ มีแต่หน้าที่อย่างเดียว เพราะอำนาจคือดุลพินิจ หน้าที่คือต้องปฏิบัติ ถ้ามีตัวเช็กลิสต์ชัดเจนจะช่วยแก้ปัญหาการจ่ายเงินใต้โต๊ะได้” นายสุรัตน์กล่าว

นายชาญณรงค์ แก่นทอง อุปนายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานมา 40 ปี ไม่เคยยื่นขออนุญาตผ่านในครั้งแรก ด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกว่า 2,000 มาตรา มีความล้าหลัง ซ้ำซ้อน บังคับใช้ไม่ได้ โดยทั้งผู้ออกแบบ ผู้ตรวจ คนใช้งาน ยังหาข้อสรุปไม่ได้

รศ.เอนก ศิริพานิชกร กรรมการควบคุมอาคาร อนุกรรมการสภาวิศวกร กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมอาคารมีความหล้าหลัง แต่ก็มีการปรับปรุงอยู่บ้าง ส่วนกฎกระทรวงมีการบังคับสิ่งที่จำเป็น ซึ่งตอนนี้มีการบังใช้กำลังคอนกรีตต่ำมาก ปัจจุบันจะมีการปรับแก้ไขให้ดีขึ้น โดยมีการผลักดันตั้งแต่ปี 2548 มีข้อเสนอถึง กทม.คือ 1.ต้องมีข้อมูลขนาดใหญ่ (Bid Data) 2.ให้จ่ายค่าธรรมเนียมแบบออนไลน์

ศ.นาวาโท ไตรวัฒน์ วิรยศิริ อาจารย์ทรงคุณวุฒิ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัล เจ้าหน้าที่หลายคนตรวจแบบผ่านคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดหลายอย่าง ส่วนคู่มือกลางต้องใช้หลายภาคส่วนในการช่วยทำ

น.ส.อุไรรัตน์ จันทรศิริ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ข้อเสนอของทีมวิจัยในการแก้ปัญหาการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 1.กำหนดระยะเวลาพิจารณาอนุญาตความเสี่ยงของอาคาร อย่างบ้านพักอาศัยที่มีความเสี่ยงต่ำ ควรกำหนดระยะเวลาพิจารณาอนุญาตไม่เกิน 30 วัน

2.ให้มีนายตรวจจากเอกชน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐแบกรับภาระมากเกินไป ช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาส

3.เพิ่มความชัดเจนในกระบวนการขออนุญาต โดยให้แต่ละเขตใช้มาตรฐานเดียวกัน

4.เพิ่มการประชาสัมพันธ์การยื่นขออนุญาตออนไลน์ให้มากขึ้น

5.ปรับกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น

6.การจัดทำฐานข้อมูลกลาง รวมข้อมูลการรังวัดที่ดินสาธารณะ เช่น คลอง ถนน เพื่อให้ผู้ขออนุญาตใช้อ้างอิงได้ แต่ต้องแก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สามารถอ้างอิงข้อมูลตรงนี้ได้

7.เร่งเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมที่ดิน และสภาวิชาชีพต่างๆ

8.การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุน และติดตามกระบวนการได้ชัดเจน

“ทั้งนี้ ทางทีมวิจัยได้คำนวนผลประโยชน์การปรับปรุงกระบวนการตามข้อเสนอแนะ สามารถประหยัดต้นทุนผู้ขออนุญาตประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประหยัดได้ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของอาคารขนาดใหญ่” น.ส.อุไรรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image