สภากาชาด แจก “เพร็พ” สาวประเภทสอง-ชายรักชาย ชี้ “กินก่อนมีสัมพันธ์” ป้องกันเอดส์ได้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย แถลงข่าวโครงการลดการติดเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง โดยการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ก่อนการสัมผัสเชื้อหรือเพร็พ (PrEP) เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่พรเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ ในปี 2560 หรือ โครงการ เพร็พ พระองค์โสมฯ ว่า หลังจากองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกจ่ายยาต้านไวรัสให้กับกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่เกินร้อยละ 3 ต่อปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง เพื่อให้กินก่อนสัมผัสเชื้อป้องกันการติดเชื้อนั้น สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการจัดให้เพร็พอยู่ในสิทธิประโยชน์ในกองทุนรักษาพยาบาลใดๆ สภากาชาดไทยจึงจะเริ่มให้ยาเพร็พฟรีแก่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสองที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไปรับบริการสุขภาพทางเพศที่ศูนย์สุขภาพชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และ จ.สงขลาา ตั้งเป้าให้บริการยาเพร็พฟรี ปีละ 1,000 ราย ต่อเนื่อง 3 ปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนรวรราชาทินัดดามาตุ เพื่อช่วยลดกการติดเอดส์ สภากาชาดไทย ปีละ 7,680,000 บาท

“เพร็พเป็นการให้ยา 2 ตัวร่วมกันก่อนการสัมผัสเชื้อ คือ ยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) ให้ร่วมกับเอมทริซิตาบีน (FTC) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ร้อยละ 92 ถ้ากินสม่ำเสมอทุกวัน ทั้งนี้ ยาทั้ง 2 ตัว องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้ โดยมีราคาจำหน่ายที่คลินิกนิรนาม ราคาเดือนละ 640 บาท สำหรับกลไกยาเพร็พจะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวรหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนยับยั่งไม่ให้แบ่งตัว จึงป้องกันการติดเชื้อได้” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าว

พญ.นิตยา ภารุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าแผนกป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย แถลงว่า ก่อนจะเริ่มกินเพร็พ ต้องตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน และต้องตรวจหาการทำงานของไต โดยไม่จำเป็นต้องกินตลอดชีวิต กินเฉพาะช่วงชีวิตที่คิดว่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งจะกินทุกวันๆ ละ 1 เม็ด หากเป็นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักต้องกินติดต่อ 7 วัน จึงจะทำให้ยามาสะสมอยู่ที่ทวารหนักที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด 10-30 เท่า ส่วนผู้มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดต้องกิน 3 สัปดาห์ จึงจะมียาสะสมที่ช่องคลอด แต่ทั้ง 2 รูปแบบต้องกินต่อเนื่องจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว และต้องตรวจหาการติดเชื้อทุก 3 เดือน ทั้งนี้คนที่กินเพร็พยังต้องใช้ถุงยางอนามัยและเข็มฉีดยาที่สะอาดในการป้องกันร่วมด้วย ส่วนผลข้างเคียงของยาเพร็พ เกิดขึ้นได้เล็กน้อยต่อไตและกระดูก แต่หากเทียบกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีถือว่าคุ้มค่ากว่า

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า กรมควบคุมโรคเตรียมศึกษาประสิทธิผลและความคุ้มค่าในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และนนทบุรี เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(สปสช.) พิจารณาบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชน คาดว่าไม่เกิน 1 ปีครึ่ง จะรู้ผล ทั้งนี้ คาดมีกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับยาเพร็พ 1.5 แสนคน ทั้งกลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง ผู้ใช้ยยาเสพติดประเภทฉีด และคู่สมรสที่มีผลเลือดต่าง

Advertisement

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ารับยาเพร็พฟรีในโครงการนี้ ติดต่อได้ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนของสมาคมฟ้าสีรุ่งที่กรุงเทพฯ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มูลนิธิสวิง (SWING) กรุงเทพฯ และพัทยา มูลนิธิ SISTERS พัทยา ศูนย์ CAREMAT และ M-PLUS เชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 2253 0996 ในเวลาราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image