“เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้ว…” กัญจนา เยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์ ครั้งแรก เช็กความพร้อมก่อนกลับไทย

“เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้วนะพ่อ…” กัญจนา บินศรีลังกาเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์ เผยความคืบหน้า

สืบเนื่องจากกรณี “พลายศักดิ์สุรินทร์” ทูตสันถวไมตรี ที่รัฐบาลไทยมอบให้ “ประเทศศรีลังกา” ตามที่ขอมาเพื่อนำไปเป็นช้างแห่พระเขี้ยวแก้ว โดยพลายศักดิ์สุรินทร์ หรือที่ชาวศรีลังกาขนานนามว่า “มธุราชา” ถูกส่งมายังรัตนทวีป หรือเกาะแห่งอัญมณี แห่งนี้ เมื่อปีพ.ศ.2544 พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่น “พลายศรีณรงค์”

วันเวลาผันผ่านไปร่วม 21 ปี จากช้างน้อยกลายเป็นช้างหนุ่ม วัย 30 ปี ที่มีอาการป่วยรุมเร้า ด้วยเหตุนี้ทางประเทศไทย ในหลายๆ หน่วยงานจึงร่วมกันประสาน เพื่อขอพาพ่อพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาในดินแดนมาตุภูมิ ซึ่งมีกำหนดการพากลับโดยเครื่องบินอิลยูชิน-อิล 76 ของรัสเซีย บินข้ามน่านฟ้ารวม 2,900 กิโลเมตร จากสนามบินบันดารานายาเก กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา สู่สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ประเทศไทย ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะพา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้าน เรื่องราวของการเตรียมพร้อมก็สำคัญ โดยเฉพาะสุขภาพและร่างกายของมธุราชา จึงต้องย้ายจากวัดคันเดวิหาร มาเตรียมความพร้อมที่สวนสัตว์เดหิวารา ในกรุงโคลัมโบ ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของมธุราชา เป็นระยะเวลาร่วม 6 เดือน เพื่อเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม ตลอดจนซักซ้อมเข้า-ออกกรงที่จะใช้เคลื่อนย้ายด้วย

Advertisement

เมื่อวันที่ 13.30 น. วันที่ 30 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานว่า นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รอง ออส., ผอ.กตป. , จนท.กคส., สัตวแพทย์ ออป และ อสส. และ จนท.สถานทูต ร่วมประเมินสุขภาพ และความพร้อมของพลายศักดิ์สุรินทร์ ดูความเรียบร้อยของกรงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนย้าย

โดยเมื่อมาถึง นางสาวกัญจนาได้ตรวจดูสภาพกรงสำหรับขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ และสอบถามอาการจากทีมสัตวแพทย์ และควาญช้าง พร้อมทักทายพลายศักดิ์สุรินทร์ บอกว่าอีกไม่นานนะ พ่อพลายจะได้กลับบ้านแล้ว ก่อนจะขอให้ทางควาญช้างศรีลังกาปลดโซ่ให้พลายได้ไหม ซึ่งทางควาญก็ให้ความร่วมมืออย่างดี

Advertisement

ทั้งนี้ นางสาวกัญจนา กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เจอมธุราชาตัวจริง หลังจากที่ติดตามดูจากภาพถ่ายตั้งแต่ครั้งแรกที่ยังทรุดโทรม มีฝีที่ขา รู้สึกสงสารมาก และตนอยู่ด้วยตั้งแต่วันแรกในกระบวนการประสานขอพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไปรักษา เพราะรู้สึกเวทนา ช้างทำงานหนักมาก ต้องแบกไฟ แบกแบตเตอรี่ กว่า 30 รอบ กระทั่งอายุ 30 แต่เหมือนอายุ 60

นางสาวกัญจนา กล่าวต่อว่า ฉะนั้นในการพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านครั้งนี้ ตนมองว่าอุปสรรคใหญ่ๆ ได้แก้ไปหมดแล้ว ต้องขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตที่ช่วยประสานจนพากลับมาได้ เพราะมีส่วนอย่างมากในการเจรจาให้เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในตัวของมธุราชายอมให้พาไปรักษาได้ ตลอดจนสวนสัตว์เดหิวาราที่ให้สถานที่ดูแลชั่วคราว ตลอดจนทีมสัตวแพทย์ ฯลฯ ที่ทำงานควบคู่กันไป จนมาถึงวันนี้พ่อพลายอาการดีขึ้น แผลแห้งเร็ว แต่ยังมีขาซ้ายที่งอไม่ได้ รวมถึงอื่นๆ ที่รอไปรักษาที่เมืองไทยต่อ

“ในที่สุดก็จะถึงเวลาที่รอคอย ขอบคุณคนไทยที่ส่งกำลังใจมามากๆ เชื่อว่าพ่อพลายจะผ่านไปได้อย่างสงบนิ่ง คนดูช้าง เขาบอกว่า ช้างเขารู้ ว่าจะมีสิ่งเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเขา เรื่องเสียงเครื่องบินก็ไม่ห่วงเพราะช้างเองก็ทำงานในที่มีเสียงอึกทึกมามาก ที่ห่วงคือตอนที่เครื่องลงจอดมากกว่า แต่อย่างไรเราก็มีการปรับเปลี่ยนกรงให้เหมาะสม มีระบบระบายของเสียด้วย ฉะนั้นจึงมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี” ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าว

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมไม่นำช้างกลับประเทศให้ครบทุกเชือกนั้น นางสาวกัญจนา เผยว่า เป็นเรื่องของกรรมสิทธิในตัวช้าง เนื่องจากตอนที่รัฐบาลส่งมอบให้แล้ว กรรมสิทธิจึงเป็นของศรีลังกา ต้องดูไปตามบริบท เพราะเบื้องต้นจากที่เจ้าหน้าที่ไปดูช้างอีก 2 เชือกในศรีลังกา คือพลายศรีณรงค์ และพลายประตูผา พบว่ามีสภาพดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์

ขณะเดียวกัน นางสาวกัญจนา ยังได้ตอบคำถามกรณีที่ว่าอยากให้รัฐบาลใหม่ ตั้งเงื่อนไขเรื่องส่งช้างไทยไปต่างประเทศอย่างไร ว่า จริงๆ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. พูดตั้งแต่วันแรกๆ ที่ดำรงตำแหน่งแล้วว่าจะไม่มีการส่งช้างอีกต่อไป ซึ่งกรณีมธุราชาก็นับเป็นตัวอย่างที่ดี ส่วนตัวไม่อยากตั้งเงื่อนไขแต่ขออย่างเดียวคือ “ไม่ต้องส่ง” และหากเห็นข้อความที่คนไทยแสดงออกกรณีมธุราชา จะเห็นได้ว่าคนไทยไม่ยอมรับแล้ว กับการส่งช้างไปเป็นเครื่องบรรณาการ ฉะนั้นหากเคารพเสียงของประชาชนก็คือไม่ส่งอีกต่อไป

สุดท้าย นางสาวกัญจนา ได้เผยความคืบหน้าการเตรียมพร้อมขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านว่า ตอนนี้กำหนดการกลับวันที่ 2 กรกฎาคม ในช่วงเช้าขณะขนกรงบรรทุกพ่อพลายจากสวนสัตว์เดหิวารา ไปสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องนั้น จะขับด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อถึงสนามบินแล้วก็จะใช้เครนยกกรงใส่เครื่องบิน ซึ่งนับว่าพลายศักดิ์สุรินทร์จะถูกรถเครนยกอีกแค่ครั้งเดียว ภายในเครื่องบินจะมีควาญช้างดูแล 3 คน และสัตวแพทย์ 2 คน และที่ปลายทาง คือสนามบินเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. จะไปรอรับ เบื้องต้นคงไม่มีพิธีต้อนรับอะไรมาก เพราะสิ่งสำคัญคือ “สวัสดิภาพ” ของพ่อพลาย

ทั้งนี้เมื่อพลายศักดิ์สุรินทร์ถึงไทยแล้ว ทีมแพทย์จะประเมินสภาพเพื่อดูว่าพร้อมไหม เหนื่อยไหม หากช้างเหนื่อยอาจจะให้พักก่อนที่ไนท์ซาฟารี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image