เล็งแก้ประมวลกฎหมายอาญา ขยับอายุเด็กต่ำกว่า 12 ปี กระทำผิดไม่ต้องติดคุก! มุ่งบำบัดฟื้นฟู

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายสุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวภายหลังนำเสนอหลักการและเหตุผล “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …” ซึ่งมีหน่วยงาน องค์กร และผู้ทำงานด้านสิทธิเด็กเข้าร่วม จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ว่า เป็นการเสวนาประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน แบ่งเป็น 4 ประเด็น ดังนี้

1.เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญาไม่ต้องรับโทษ ในมาตรา 73 จากปัจจุบัน 10 ปีเป็น 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989

2.เพิ่มความผิดฐานซื้อขายเด็กและลักพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ในมาตรา 320/1, 320/2 และ320/3 เอาผิดอาญาทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และคนกลาง แต่ขณะเดียวกันศาลก็อาจบรรเทาหรืองดเว้นโทษให้กับผู้ซื้อเด็ก ที่สามารถดูแลเด็กได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำสิทธิเด็ก หรือดูแลได้ดี ขณะที่การลักพาเด็กถือเป็นเรื่องใหม่ จากเดิมที่อยู่ในมาตรา 317 วรรค 2 ที่ระบุถึงการพรากเด็กหรือการซื้อขายเด็กที่พรากมานั้น ผิดกฎหมายอาญาระวางโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี แต่ของใหม่ระบุถึงการลักพา นำพา หรือกระทำด้วยประการอื่นใดให้ได้มาซึ่งตัวเด็ก ก็มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำ 5 ปี

3.เพิ่มเงื่อนไขในการนับอายุความในกรณีความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 95/1 จากเดิมกฎหมายอาญามีอายุความ 10 ปี เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กไม่สามารถไปแจ้งความดำเนินคดี เพราะผู้กระทำส่วนใหญ่อยู่กับเด็ก แต่การนับอายุความก็ยังเดินและล่วงเวลาจนหมดไป แต่ครั้งนี้ให้อายุความสะดุดหยุดจนกว่าเด็กผู้เสียหายจะบรรลุนิติภาวะในอายุ 20 ปี แล้วอายุความค่อยเดินต่อ ซึ่งคิดว่าถึงตอนนั้นเด็กน่าจะมีความกล้าไป

Advertisement

และ4.เพิ่มเงื่อนไขในการร้องทุกข์แจ้งความในกรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์พิการ ผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ มาตรา 96 วรรค 2 จากเดิมที่กฎหมายเขียนให้ตีความระหว่างผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหรือผู้ดูแล หากรู้การหรือรู้ผู้กระทำผิด แต่มิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน เป็นอันขาดอายุความ ก็เปลี่ยนใหม่ให้ชัดเจนเป็นผู้ดูแลรู้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเด็ก อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชาพิจารณ์ในวันนี้ คาดว่าจะเสนอดย.ได้ภายในเดือนมกราคม 2560 ก่อนเสนอตามขั้นตอนต่อไป

ศ.(พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในหลักการทั้งหมด แต่การเสนอก็ต้องชัดเจนและตอบคำถามสังคมให้ได้ อย่างในส่วนขยับอายุเด็กจาก 10 ปี เป็น 12 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษทางอาญา จะไม่ใช่การปล่อยปะละเลยเด็กผู้กระทำผิดจนทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกโดดเดี่ยว แต่เพราะต้องการนำเด็กเหล่านี้ไปบำบัดดูแลก่อนปล่อย ที่ไม่ใช่เข้าไปในสถานพินิจร่วมกับเด็กโต เพราะปัจจุบันสถานพินิจก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูทั้งเด็กเล็กและเด็กโตได้ ทำให้เด็กเล็กเมื่อเข้าไปก็เป็นเหมือนเข้าไปเรียน แทนที่จะได้รับการฟื้นฟูเปลี่ยนระบบคิดและพฤติกรรม ทั้งนี้ ที่กฎหมายระบุถึงการให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กเข้าไปดูแลสวัสดิภาพเด็กกลุ่มนี้ ส่วนตัวคิดว่าการแยกเด็กเล็กเหล่านี้ไปฟื้นฟูโดยกระทรวง พม.ที่ต้องมีระบบบำบัดฟื้นฟูอย่างแข็งขัน ก็มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนแน่นอน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อายุ 12 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีพัฒนาการเด่นชัด เริ่มประมวลประสบการณ์ที่ผ่านมา และมองอะไรเชื่อมโยงซับซ้อนขึ้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว และเห็นด้วยกับแนวคิดให้ขยับอายุเป็น 14 ปี ที่ดูต้นแบบกฎหมายมาจากประเทศเยอรมนี เพราะช่วงวัยดังกล่าวจะมีระบบคิดที่สมบูรณ์มากกว่า ทั้งนี้ ในทางสุขภาพจิต เด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงควรได้รับการรักษา แต่ที่ผ่านมาพอไม่ได้รับการรักษา เขาก็พัฒนาพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น

Advertisement

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร
ศ.(พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล
ศ.(พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล
สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์
สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image