คพ.ติวเข้มจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่เร่งด่วน แก้ปัญหาคุณภาพน้ำ แหล่งเสื่อมโทรม

วันที่ 30 ธันวาคม 2559 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชนมีประมาณ 9.59 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เกิดขึ้นจากชุมชนเมืองระดับเทศบาล 2,440 แห่ง ประมาณ 3.48 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล 5,335 แห่ง ประมาณ 5.25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาประมาณ 0.86 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการลงทุนในการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนเงินประมาณ 83,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 101 แห่ง เป็นระบบฯที่ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 96 แห่ง ชำรุด 8 แห่ง กำลังก่อสร้าง 2 แห่ง และชะลอโครงการ 3 แห่ง คือ จ.สมุทรปราการ เทศบาลเมืองนครพนม และเทศบาลเมืองชุมพร ปัจจุบันระบบบำบัดฯ ใช้งานได้ 88 แห่ง มีน้ำเสียเข้าเพียง 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของน้ำเสียชุมชน

นายจตุพรกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ชุมชนที่ต้องได้รับการจัดการเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่วิกฤตคุณภาพน้ำ พื้นที่เขตควบคุมมลพิษ พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก สามารถคิดเป็นปริมาณน้ำเสียชุมชนประมาณ 5.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานํ้าเสียจากชุมชนซึ่งเป็นสาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่ทําให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เสื่อมโทรม คพ.จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการเตรียมความพร้อมการจัดการน้ำเสียชุมชนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เร่งด่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการน้ำเสียจากชุมชนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เร่งด่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปัญหาอุปสรรคของการจัดการน้ำเสียชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image