เปิดคลิปสุดท้ายน้องตุลา ก่อนล้ม หมอล็อตให้กำลังใจคณะทำงาน ชี้ น้องพ้นจากความเจ็บปวด
วันที่ 14 สิงหาคม นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์เฟซบุ๊กภายหลังจากน้องตุลา ลูกช้างป่ากำพร้า ล้มที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 กะบกคู่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยระบุว่า
รีบโทรให้กำลังใจทีมหน้างาน เป็นอันดับแรก กำลังใจจากทุกๆคน และตุลาที่สู้กับความเจ็บปวด สิ่งสำคัญที่สุดคือ จัดการกับความทุกข์ทรมานเหล่านั้น
มาดูเบื้องหลังการจัดการ ดูแล รักษาของคณะทำงานกัน ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ประเมินอย่างไร รักษาอย่างไร ตามหลักวิชาการที่ประชุมกันทุกสัปดาห์ เพื่อให้น้องพ้นจากความเจ็บปวด ซึ่งน้องผ่านจุดนั้นมาแล้วและจะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดไป
คลิปความสุขสุดท้ายของน้องวันนี้ หลังจากที่ได้รับแจ้ง ผมก็รีบโทรหาทีมงานเพื่อปลอบใจและให้กำลังใจทุกคนสู้ต่อ
ขอบพระคุณทุกกำลังใจและการสนับสนุนน้องตุลาครับ
วันเดียวกัน จ.ส.100 รายงานว่า น.สพ.ภัทรพลเปิดเผยว่า ส่วนสาเหตุการตายของน้องตุลา น่าจะเกิดจาก ตุลา มีภาวะกระดูกบาง เพราะเป็นลูกช้างป่าพลัดหลง กำพร้าไม่ได้กินนมแม่ตั้งแต่เล็ก และก่อนหน้านี้กระดูกร้าว อาจจะเป็นเพราะเล่นซุกซนตามประสาช้างเด็ก ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ กระดูกร้าวที่ขาหลัง ช่วงหลังตุลาไม่ยอมล้มตัวนอน เอาปากคาบไม้กั้นคอกตลอดเวลา แสดงถึงความเจ็บปวดอย่างที่สุด และตุลายังพบไวรัสเฮอร์ปีส์ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งไวรัสนี้จะแฝงมากับช้างเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ตุลาถูกขับออกจากโขลงตั้งแต่เกิดได้ไม่นาน เพราะแม่ช้างป่าจะมีสัญญาณตามธรรมชาติ รู้ว่าลูกตัวไหนป่วย ถ้ารู้ว่าป่วยจะถูกขับออกจากโขลงเพื่อไม่ให้ตัวอื่นติดเชื้อตาม เมื่อตุลาถูกขับออกจากฝูง พยายามเดินมาหาชาวบ้านเมื่อปลายปีที่แล้ว มาเจอเจ้าหน้าที่ทหารพรานนาวิกโยธินที่ 544 อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และมีอาการอ่อนแรงมาก ทีมแพทย์ได้ทำงานสลับกันมาดูแล อยากให้ทุกคนจดจำภาพที่ดีของตุลาที่ทำให้ทุกคนมีความสุข
เมื่อช่วงที่ทีมสัตวแพทย์นำมารักษา ดูแลอย่างเต็มที่ เพราะถ้าลูกช้างแข็งแรงดี สุขภาพดี เชื้อไวรัสที่แฝงก็มีโอกาสหาย ทีมแพทย์ที่ดูแลตุลา จึงพยายามดูแล ทำทุกอย่างให้ตุลามีความสุข ตัวช้างตุลาก็รู้ว่าตัวเองคงอยู่ได้ไม่นาน ในช่วงที่มีการรักษา ได้ให้อาหารเสริม ให้แคลเซียม ทดแทนสารอาหารที่ไม่ได้รับจากแม่ และมีบางช่วงที่ไม่พบเชื้อ ตุลามีความอดทนมาก มีความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดมาก และได้หลับไปเองโดยมีทีมแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับไวรัสเฮอร์ปีส์ โอกาสรอดเป็น 0% แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ขึ้นอยู่กับสภาพตัวสัตว์ หลังจากนี้ทีมแพทย์จะทำการผ่าซากของตุลา เพื่อหาสาเหตุอย่างอื่นที่ทำให้ตุลาล้มลง และถือว่า กรณีของตุลา เป็นแบบเรียน และจะทำเป็นคู่มือในการดูแลสัตว์ที่พลัดหลงต่อไป