คนกรุงเฮ’ชายหมู’สั่งแล้ว ซ่อมไฟป้ายรถเมล์ ลั่นให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมเรื่องความปลอดภัยของประชาชน กรณีการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะบนถนน ตรอก ซอย บริเวณป้ายรถประจำทางและสะพานลอยคนข้าม โดยมีคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการเขต 50 เขตร่วมประชุม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ตามที่ กทม.ได้มีข้อพิพาทกับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจาก กทม.ในการดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์ จะยกเลิกสัญญากับ กทม. และทิ้งงานไม่ดูแลป้ายรถเมล์จนเป็นสาเหตุทำให้ป้ายรถเมล์หลายแห่งไม่มีไฟส่องสว่าง ซึ่งปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ในระหว่างนี้ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดให้เข้าแก้ไขปัญหา เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขต 50 เขต และสำนักการจราจรและขนส่ง สำรวจป้ายรถเมล์ทุกแห่งในกรุงเทพฯ ทั้งอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.และหน่วยงานภายนอก เพื่อทำระบบระบุพิกัดป้ายไว้เป็นข้อมูลว่าอยู่ในจุดใดบ้างและอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เพื่อให้ง่ายแก่การติดตามแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และสำรวจป้ายที่ยังไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งแต่ละเขตจะต้องเร่งแก้ปัญหาภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที จะต้องมีข้อชี้แจงถึงสาเหตุและวางกรอบระยะเวลาในการแก้ไขให้ชัดเจน อีกทั้งในพื้นที่ที่ป้ายรถเมล์ยังไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เขตจะต้องส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า กรณีที่เกิดปัญหาข้อพิพาทกับเอกชนในการดูแลป้ายรถเมล์โดยสารนั้น ในอนาคต กทม.ต้องกลับมาพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินดูแลป้ายรถเมล์โดยสารด้วยตัวเอง โดยไม่ให้สัมปทานป้ายแก่เอกชนดูแลได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นอาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และอาจทำให้ กทม.ขาดรายได้จากการให้สัมปทานเอกชนในการโฆษณา แต่หากจะทำให้เกิดระบบในการดูแลบริหารจัดการป้ายรถเมล์ดีขึ้นก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ เรื่องการพิจารณาในการดูแลป้ายโดยสาร เป็นเรื่องในอนาคต ซึ่งขณะนี้เอกชนยังคงมีสัญญาในการดูแลป้ายอยู่ และอีกหลายปีจึงจะหมดสัญญา ดังนั้น การพิจารณาระบบการดูแลจึงต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหาร กทม.ในชุดต่อไป

นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัด กทม. กล่าวว่า ป้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 2,000 จุด อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ซึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และเกิดปัญหาไม่มีไฟส่องสว่างนั้น จากการสำรวจเบื้องต้นมีจำนวนกว่า 462 จุด ส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขแล้ว เหลือเพียง 12 จุด ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนป้ายที่อยู่ในสัญญาสัมปทานของเอกชน ที่ไม่มีไฟส่องสว่างจำนวนกว่า 100 จุดนั้น กทม.จะต้องประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในการเข้ามาเชื่อมต่อกระแสไฟ ซึ่งก็ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน

Advertisement

“สำหรับข้อพิพาทกับเอกชนคือก่อนหน้านี้มีปัญหากรณีเอกชนติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณป้ายรถเมล์กีดขวางการสัญจรของประชาชน กทม.จึงได้สั่งให้เอกชนรื้อถอนป้ายดังกล่าว ซึ่งตามสัญญาระบุไว้ว่าหากเอกชนจะติดตั้งป้ายโฆษณาต้องได้รับการเห็นชอบจาก กทม.ก่อน แต่ทางเอกชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม กทม.ไม่ส่งมอบพื้นที่ให้ตามสัญญา จนสร้างความเสียหายและกระทบกับรายได้ จึงต้องการยกเลิกสัญญากับ กทม. ทำให้เกิดปัญหาทิ้งงานไม่มาดูแลป้ายรถเมล์ ซึ่งขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชน หากยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” นพ.พีระพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image