ปรากฏการณ์ท้องฟ้า ดาวประกายพรึก ขนาดเสี้ยวใหญ่สว่างจ้า ย่ำรุ่งวันนี้
วันที่ 18 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร.โพสต์ภาพ ดาวประกายพรึก หรือดาวศุกร์ ช่วงย่ำรุ่ง ที่ผ่านมา โดยระบุด้วยว่า
ดาวศุกร์ หรือ ดาวประกายพรึก รุ่งเช้าวันนี้ สวยงามและสว่างมากก
18 กันยายน 2566 ช่วงเช้าก่อนรุ่งสาง #ดาวศุกร์ ปรากฏสว่างที่สุดครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ ทางใต้ฟ้าดี ทีมสงขลา เก็บภาพมาให้ชมกันครับ สว่างสวยงามมากกก ในขณะที่หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องเลย ที่ไหนมองเห็นบ้างครับมาแชร์กันได้
—-
#ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม อาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
—-
หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า“ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นคนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
—-
ปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 10 มกราคม 2568 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ภาพ เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ