สภากรุงเทพมหานครกดปุ่มไฟเขียวเป็นเอกฉันท์แล้ว สำหรับการกันเงินงบปี 2566 เบิกเงินเหลื่อมปีงบประมาณตามคณะกรรมการวิสามัญเสนอในห้องประชุมสภา กทม. อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โดยมี วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม. เป็นประธานการประชุม สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2566 ท่ามกลางสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในวันเดียวกัน ยังมีประเด็นน่าสนใจมากมายทั้งกระทู้ถามสดและญัตติต่างๆ
ตัวเปิดตัวตึงผู้มีแฟนคลับมากมายอย่าง สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง หรือ ‘เฮียล้าน’ ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เผยว่า คณะกรรมการมีข้อสังเกตไปยังหน่วยงานหลายข้อ อาทิ เรื่องที่ ส.ก.ทุกเขตได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเดิมสำนักอนามัยจะเป็นผู้จัดซื้อ แต่พบว่ามีความล่าช้าในการดำเนินการมาก และในปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกกว่า 6,000-7,000 คน กทม.อาจพิจารณามอบให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนของเขตจัดซื้อเองเพื่อความสะดวกรวดเร็ว หรืออาจหานวัตกรรม สารเคมีใหม่ๆ มาใช้เพื่อลดจำนวนลูกน้ำยุงลายด้วย

2 ส.ก.ถาม คุ้ม–ไม่คุ้ม? รองผู้ว่าฯลุกตอบ
‘โปรเจ็กต์เช่ารถไฟฟ้าเก็บขยะ’
ด้าน สมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน สอบถามถึงความคุ้มค่า โครงการเช่ารถไฟฟ้าเก็บขนมูลฝอย กับการซื้อรถ ซึ่งเป็นรถสามล้อไฟฟ้าเพื่อเข้าไปช่วยชักลากขยะในชุมชนออกมายังถนนหลัก อำนวยความสะดวกให้กับรถขยะที่ไม่สามารถเข้าถึง
ขณะที่ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า รถสามล้อไฟฟ้าเป็นรถที่ กทม.จัดเช่าเป็นครั้งแรก สำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการเปรียบเทียบราคาเช่ากับราคาซื้อ หากพบว่าการซื้อถูกกว่าการเช่าจำเป็นต้องขอยกเลิกรายการนี้
พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ได้ร่วมอภิปรายและให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อรถไฟฟ้าของ กทม. ซึ่งต้องคำนึงถึงข้อกำหนดของรัฐบาลที่จะให้ใช้รถยนต์มาตรฐาน Euro 5 เพื่อควบคุมมลพิษในปีหน้าด้วย รวมถึงในการกำหนดรายละเอียดการจัดซื้อต้องกำหนดค่าปรับให้สูงสุดเพื่อให้ กทม.และประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ส.ก.ยานนาวา เผยอีกว่า เนื่องจากสำนักสิ่งแวดล้อมขอจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2566 ในการดำเนินการจัดหารถเช่าเก็บขนมูลฝอยให้แก่สำนักงานเขตต่างๆ แทนสัญญาที่จะหมดอายุช่วงปลายปี พ.ศ.2567 ถึงต้นปี พ.ศ.2568 ตามระยะเวลาของสัญญาแต่ละฉบับ แต่ถึงขณะนี้การเช่ารถเก็บขนมูลฝอยของสำนักสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนทั้งของหน่วยงานราชการและผู้ให้เช่าในการปรับแต่งรถ รวมถึงการจดทะเบียนรถตามกฎหมาย

หากเกิดความล่าช้าไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลาที่กำหนดจะทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง รวมทั้งปัญหาสุขภาพอนามัยสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน จึงได้สอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.มีแผนการรองรับกรณีการจัดหารถขยะล่าช้าอย่างไรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน
2.กรุงเทพมหานครมีแผนรองรับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าแล้ว
หรือไม่
3.หากการกำหนดรายละเอียดโครงการล่าช้า ทำให้การส่งมอบล่าช้า กรุงเทพมหานครมีแผนรองรับหรือไม่
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนใช้รถไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน และเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครควรทำ เชื่อว่า ส.ก.ทุกท่านเห็นด้วยกับการเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า แต่อาจมีบางปัจจัยที่ทำให้กังวลกันอยู่ จากข้อมูลที่สถาบันการศึกษาที่ได้ศึกษาความคุ้มค่าการใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า 100% โดยทดสอบการวิ่งรถ และพบว่ารถพลังงานไฟฟ้ามีความคุ้มค่า สามารถประหยัดได้ และเป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงจะทำให้ได้ประโยชน์ในเรื่อง Carbon Footprint ด้วย ในขณะเดียวกันการบริหารงบประมาณรายจ่าย ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่กำหนดให้รายจ่ายงบประมาณที่ต้องการเปลี่ยนแปลงต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร เป็นสิ่งที่ทำให้กังวล เนื่องจากโครงการนี้เป็นการเช่ารถทดแทนตั้งแต่ปี’65 ซึ่งเดิมอาจเป็นรถประเภทดีเซล การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการให้เป็นรถประเภทรถไฟฟ้าจึงทำให้ไม่แน่ใจว่ากรุงเทพมหานครจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จึงได้มีคำถามถึงฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับเรื่องรถจัดเก็บขยะไฟฟ้าในวันนี้” พุทธิพัชร์จบด้วยคำถาม

ชัชชาติ–จักกพันธุ์ แทคทีมแจงยิบ งบจากไหน ช้าหรือไม่?
ผู้ว่าฯชัชชาติลุกตอบทันท่วงทีว่า เรื่องของการจัดการขยะเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง ปัจจุบันใช้เงินค่ากำจัดขยะ 7,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การดูแลเรื่องการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสในการใช้งบประมาณและการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงต้องดำเนินการควบคู่กัน และเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญตลอดมา
ตามด้วย จักกพันธุ์ รองผู้ว่าฯกทม. ที่ลุกขึ้นกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีงบประมาณสำหรับการเช่ารถขยะในปีงบประมาณ 66 จำนวน 5 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ทั้งหมด ไม่ได้เป็นการโอนเงินจากโครงการใดโครงการหนึ่งมาเพื่อโครงการนี้ และเป็นงบประมาณต่อเนื่องมากกว่าปีงบประมาณจึงต้องขอความเห็นชอบจากสภา กทม. หากถามว่าโครงการนี้ล่าช้าหรือไม่ สำนักสิ่งแวดล้อมรายงานว่าโครงการนี้จะสามารถส่งรถเช่านี้ได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.67 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีรถ 2,020 คัน เดิมจะทยอยหมดสัญญา ส่วนการส่งรถใหม่จะทยอยต่อเนื่องจากสัญญาเก่าที่หมดไป
“สำหรับคุณลักษณะของรถที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่ระหว่างการจัดทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เบื้องต้นถึงแม้จะเป็นรถไฟฟ้าหรือรถใช้น้ำมัน ตัวถังต้องเป็นขนาดเดียวกัน ต่างกันเฉพาะพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนเท่านั้น ความสามารถในการบีบอัดก็เท่ากัน ซึ่งในการกำหนดรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างจะเขียนไว้อย่างชัดเจน ส่วนการติดตั้งสถานีชาร์จ ขณะนี้ กทม.ได้ติดต่อภาครัฐ ภาคเอกชน ที่พร้อมเข้ามาลงทุนกับ กทม. โดยที่ กทม.ไม่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ
การจัดซื้อจัดจ้างหรือเช่ารถ จะเป็นไปตามข้อบัญญัติงบประมาณเดิม เพราะในข้อบัญญัติไม่ได้ระบุว่าเป็นการจัดซื้อหรือเช่า รวมถึงนโยบายการแยกขยะของกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อหรือเช่ารถแต่อย่างใด ในขณะที่ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะออกข้อบัญญัติการส่งเสริมการแยกขยะเพื่อให้มีปริมาณขยะลดน้อยลง สำหรับข้อกังวลว่ากรุงเทพมหานครมีการทดสอบการใช้รถขยะแล้วหรือไม่ กรุงเทพมหานครได้ทำการทดสอบไปแล้ว 2 เขต คือประเวศและดุสิตและจะดำเนินการในเขตลาดกระบังต่อไป” รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์กล่าว
ทั้งยังเพิ่มเติมข้อมูลกรณีที่จัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากผู้ให้เช่าที่ได้สัญญาส่งมอบรถไม่ทันตามกำหนดและไม่สามารถนำรถเช่าของผู้ให้เช่ารายเดิมมาใช้งานได้เนื่องจากหมดสัญญาแล้ว ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ว่าหากเซ็นสัญญาแล้วผู้รับจ้างมีหน้าที่ส่งรถตามกำหนดเพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ แต่ในสัญญาอาจกำหนดว่าหากล่าช้าผู้รับจ้างต้องนำรถขยะประเภทอื่นมาให้กรุงเทพมหานครใช้ก่อน ดังนั้น ภาพรวมการแก้ไขปัญหาสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้วางแผนไว้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดขยะตกค้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ราชเทวีติดแหง็ก ชาวบ้านแห่ร้อง กทม.เร่งแก้ 127 ‘จุดฝืด’
อีกเรื่องร้อนภาคประชาชนคือ กระทู้ถามสดของ เอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณหน้าศูนย์การค้าในพื้นที่ โดยระบุว่า มีรถยนต์โดยเฉพาะรถแท็กซี่จอดรอรับผู้โดยสารบริเวณหน้าศูนย์การค้า จำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งเดิมบริเวณดังกล่าวก็มีการจราจรที่หนาแน่นอยู่แล้ว ประชาชนร้องเรียนมาต่อเนื่อง สาเหตุอาจมาจากศูนย์การค้านำที่จอดรถบางส่วนจัดทำเป็นตลาด ทำให้ที่จอดรถรองรับลูกค้าไม่เพียงพอ อย่างไรปัญหาดังกล่าวอาจไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กทม.โดยตรง แต่ขอให้ กทม.ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเพื่อเร่งแก้ไข ลดความเดือดร้อนให้ประชาชน รวมถึงขอสอบถามแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณหน้าศูนย์การค้าดังกล่าวว่ามีการเตรียมแนวทางไว้อย่างไรบ้าง
“ขอใช้พื้นที่สภา กทม.ในวันนี้ชี้แจงเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบปัญหา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเราก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้นำเรื่องมาสะท้อนในที่ประชุมสภา กทม.เพื่อให้ร่วมหาแนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องปัญหารถติดหน้าศูนย์การค้า ซึ่งต่อเนื่องไปยังถนนสายอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง การนำที่จอดรถมาเป็นสถานที่ขายของไม่แน่ใจว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ จึงขอให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา” เอกกวินกล่าว
ประเด็นนี้ ชัชชาติ ลุกขึ้นตอบ โดยเน้นย้ำว่า ปัญหาการจราจรเป็นปัญหาใหญ่ จุดนี้ได้ลงพื้นที่มากกว่า 10 ครั้ง อย่างไรก็ตาม กทม.มีอำนาจเฉพาะบนฟุตปาธ ส่วนบนถนนต้องอาศัยความร่วมมือจากตำรวจจราจร และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งปัญหาไม่ใช่แค่ที่จุดนี้ ยังมีจุดบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าอื่นๆ โดยรวมพบว่ามีปัญหาจุดฝืดลักษณะนี้ 127 จุด การแก้ปัญหาในระยะสั้นต้องร่วมมือกับตำรวจให้มากขึ้น ส่วนในระยะยาวต้องทำให้เป็นรูปธรรมและบูรณาการ
“ที่ผ่านมา กทม.มีปัญหาในแง่ของการบูรณาการกับหลายหน่วยงาน ทั้ง บช.น. การไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวง อย่างไรก็ดี เมื่อได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรี ทำให้ได้รับการเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นคณะทำงานพัฒนากรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ท่าน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกรุงเทพมหานครเป็นเลขานุการ เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหา โดยเรื่องจราจรจะเป็นเรื่องแรกที่จะหารือกัน โดยนำจุดฝืดต่างๆ เป็นเป้าหมายการสั่งการแบบบูรณาการ ให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้นเดือนหน้าจะเริ่มการหารืออย่างเป็นทางการ
ต่อไปจะมีการเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น อย่างในเรื่องของการใช้กล้อง CCTV จับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า หากมีความร่วมมือกับตำรวจและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม การเอากล้อง CCTV มาจับปรับ น่าจะเป็นเรื่องที่เห็นชัดมากขึ้น เพื่อเอากฎหมายมาบังคับผู้กระทำความผิด” ชัชชาติยืนยันหนักแน่น ก่อนทิ้งท้ายว่า
ฝ่ายบริหารจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาจราจรในทุกจุดให้เป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด
ศศวัชร์ คมนียวนิช