‘ศิริราช’ ชูรักษา ‘มะเร็งเต้านม’ สำเร็จมาตรฐานโลก เผยโอกาสรอดสูงเกือบ 100%

เมื่อวันที่ 9 มกราคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลแถลงข่าว “ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมเทียบเท่ามาตรฐานโลก” ที่โรงพยาบาลศิริราช ว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทยและทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่าหมื่นราย รพ.ศิริราชเล็งเห็นความสำคัญของโรคร้ายนี้ และพัฒนาแนวทางการดูแลรักษามะเร็งเต้านมแบบครบวงจรโดยวิธิการทันสมัยมาตลอด จนสามารถพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสำเร็จเทียบเท่ามาตรฐานโลก ซึ่งถือเป็นข่าวดีรับปี 2560 โดยหากดำเนินการตามแนวทางการรักษาดังกล่าว ตั้งเป้าไว้ว่าในระยะ 5 ปี จะต้องเอาชนะมะเร็งเต้านมให้ได้ในผู้ป่วยระยะแรกหรือระยะ 0-1 ต้องมีอัตราการรอดชีวิตเท่ากับร้อยละ 100 ผู้ป่วยระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มีอัตราการรอดชีวิตเกินกว่าร้อยละ 90 และร้อยละ 80 ตามลำดับ จากความสำเร็จในการวางแผนการรักษา และด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย ทำให้ประเทศไทยสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้

“แม้การรักษามะเร็งจะมีความหวังมากขึ้น แต่การป้องกันก็ดีที่สุด โดยปัจจัยเสี่ยงยังมีทั้งเรื่องอาหารการกิน สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอาหารการกิน เดิมมะเร็งจะพบมากในฝั่งประเทศแถบตะวันตก แต่ปัจจัยประเทศแถบตะวันออกมีเพิ่มขึ้น เพราะเราเลียนแบบกินอาหารไขมันสูง ขาดไฟเบอร์ ดังนั้น กินอะไรเราก็จะได้แบบนั้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม กล่าวว่า อุบัติการณ์มะเร็งเต้านมเป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก โดยในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยประมาณ 175,000 ราย ทั่วโลกเป็นล้านราย สำหรับไทยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเพศหญิง โดยอัตราส่วนเป็น 20.5 ต่อประชากรแสนราย แต่เมื่อคิดตามรายภาคจะพบว่าภาคกลางมีอุบัติการณ์ร้อยละ 8.5 ต่อปี โดยในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ 20,000 ราย อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าหากพิจารณาข้อมูลรายจังหวัดพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนผู้ป่วยสูงอยู่ที่ 24.3 ต่อประชากรแสนราย ซึ่งจากข้อมูลอุบัติการณ์ผู้ป่วยมากในภาคกลาง โดยอันดับ 1 กรุงเทพฯ รองลงมา จ.ระยอง เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีภาคอุตสาหกรรม มีมลภาวะ มลพิษสูง การแข่งขันการทำงานสูง ส่งผลต่อความเครียด อาหารการกินต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยทั้งสิ้น

“จากการศึกษาข้อมูลพบว่า การรักษาอย่างครบวงจร และรวดเร็วจะทำให้รอดชีวิตสูงขึ้น โดยแบ่งการรักษาออกเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เริ่มแรก ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามต่อมน้ำเหลือง ส่วนระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะลุกลามอวัยวะอื่นๆ จะไม่ได้อยู่ในการศึกษาข้อมูล อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า หากได้รับการรักษาครบวงจรอัตราการรอดชีวิต 5 ปี จะสูงขึ้นโดยรวมทุกระยะอยู่ที่ร้อยละ 92.1 ส่วนอัตราการรอดชีวิตที่ 10 ปีจะอยู่ที่ร้อยละ 85.6 โดยการรักษาจะมีทั้งการวางแผน และแนวทางการรักษาตามความเหมาะสม ทั้งด้านรังสีวินิจฉัย การผ่าตัด รังสีรักษา และรักษาด้วยยา รวมไปถึงการรักษาแบบมุ่งเป้าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์ระดับอณุชีววิทยา และอณูพันธุศาสตร์ นอกจากนี้ ศิริราชยังมีศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง โดยการกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อป้องกันและรักษามะเร็ง” ศ.นพ.พรชัย กล่าวและว่า หากแยกอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ออกเป็น 3 ระยะ จะพบว่า ระยะที่ 1 มีอัตรารอดชีวิตสูงสุดถึงร้อยละ 97.2 ระยะที่ 2 ร้อยละ 92.1 และระยะที่ 3 ร้อยละ 83.7 ส่วนอัตราการรอดชีวิตที่ 10 ปี แบ่งออกเป็นระยะที่ 1 ร้อยละ 95.9 ระยะที่ 2 ร้อยละ 84 และระยะที่ 3 ร้อยละ 71.4

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image