กทม.เปิดเวทีฟังความเห็นชาวบางขุนนนท์ “สร้างระบบบำบัดน้ำเสียในสวนสาธารณะดีไหม”

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นางสุทธิมล เกษสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย งบประมาณก่อสร้าง 10,700 ล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำ เสียของ กทม. โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ สำนักการระบายน้ำ จะจัดเวทีประชุมบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เขตบางกอกน้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านจากประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่สวนสาธารณะ โดยมองว่าหากสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขึ้นจะทำให้เกิดมลภาวะทางกลิ่น และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ศึกษาหาแนวทางต่างๆเพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวด ล้อมและประชาชนอยู่แล้ว อีกทั้งระบบดังกล่าวจะสร้างอยู่ใต้ดินภายในสวนสาธารณะ มีเพียงอาคารโผล่มาในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เท่านั้น และจะมีเครื่องกรองกลิ่น รวมถึงจะดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณนั้นให้สวยงามเป็นพื้นที่สีเขียวเหมือนเดิม

นางสุทธิมล กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างขึ้นบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กทม. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้หารือกับกรมธนารักษ์เจ้าของพื้นที่ ก็ได้อนุมัติพื้นที่ใต้ดินของสวนสาธารณะในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขต คือ เขตบางพลัด เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางกอกน้อย หากสร้างเสร็จจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 148,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่และบางกอกน้อยไปแล้ว และในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ยังมีผู้คัดค้านอยู่และหากได้ข้อร้องเรียนเพิ่มเติมก็จะรวบรวมเสนอให้ผู้บริหารกทม. พิจารณาอีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่มีการจ้างเอกชนมาดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใดเป็นเพียงแค่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ขอยืนยันว่ากทม.จะนำเทคโนโลยีในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เช่นเดียวกับระบบบำบัดน้ำเสียอื่นๆในกรุงเทพฯที่สามารถแก้ปัญหาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image