“สภาทนาย”ลิสต์ข้อกฎหมายรถตู้มรณะ25ศพ ฟัน”ผู้ประกอบการ-บ.ขนส่ง”ละเมิดสิทธิ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 มกราคม ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ บริเวณวงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธิน ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายธนชาติ แสงประดับธรรมโชติ รองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ นายเสาวภักดิ์ สกุลโรมวิลาส อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสมพร จินตุลา ประธานคณะกรรมการ นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน/เลขาธิการ และนายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ/กรรมการประชาสัมพันธ์ ร่วมกันแถลงถึงการช่วยเหลือกรณีอุบัติเหตุรถตู้ชนรถกระบะจนมีผู้เสียชีวิต 25 ราย

ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์รถตู้บรรทุกผู้โดยสารจากจ.จันทบุรีชนกับรถกระบะเกิดไฟลุกไหม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้เสียชีวิต คนขับ ตัวผู้ประสบเหตุทั้งคนเจ็บคนตาย ผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป จนมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องมีมาตรการดูแลสอดส่องและควบคุมอย่างใกล้ชิดทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ สภาทนายความในฐานะหน่วยงานที่ดูแลปกป้องสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณะ จึงประชุมหารือหาทางออกทางกฎหมายและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา จนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยมอบให้นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ เดินทางไปสอบข้อเท็จจริงกับผู้เสียหายที่ภูมิลำเนาแล้ว ทราบว่าหลังจากเสร็จพิธีศพแล้ว ญาติผู้เสียหายจะเดินทางมาร้องทุกข์แก่สภาทนายความอย่างเป็นทางการ ตนได้จัดเตรียมคณะทำงานติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสภาทนายความจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และญาติ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัย เสียความสามารถในการทำงานทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน โดยให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมายตั้งแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้นอกจากจะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการแล้วจะดำเนินคดีกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องหน่วยใดบ้างจะต้องสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด ตอนนี้ยังไม่สามารถลงรายละเอียดเจาะจงไปได้ว่ามีหน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบ

ด้าน นายธนชาติ กล่าวว่า รถตู้สายกรุงเทพฯ – จันทบุรี เป็นรถตู้ร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด และเป็นของ หจก.พลอยหยก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมที่มีแนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม กลุ่มแรกระหว่าง หจก.พลอยหยก ผู้ประกอบการ กับพนักงานขับรถตู้ ในการใช้แรงงานเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะพื้นฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และมีผลใช้บังคับในข้อ7 ประเทศไทยได้ให้การรับรองสิทธิในการทำงานของแรงงาน เพื่อให้มีสภาพการทำงานที่เป็นธรรม ยุติธรรม และมีความปลอดภัย มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีการพักผ่อนและชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม รวมทั้งสิทธิในสวัสดิการสังคม และการประกันสังคมได้ทั่วถึง การคุ้มครองแรงงานต่อการถูกละเมิดสิทธิจะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เห็นว่าเหตุการณ์นี้คนขับทำงานติดต่อเป็นเวลานานโดยต้องขับรถทางไกลไปกลับถึง5รอบในช่วงเวลาไม่น้อยกว่า31ชั่วโมง เกินกว่าร่างกายมนุษย์จะรับได้ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ ซ้ำค่าตอบแทนสวัสดิการอาจไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้คนขับต้องอดหลับอดนอน เพื่อจะได้ส่วนแบ่งจากจำนวนรอบให้มากขึ้น จนคนขับได้รับสิ่งเย้ายวนว่าหากขับรถได้รอบมากก็ได้เงินมาก ขณะที่ผู้ประกอบการได้รับรายได้ที่สูงขึ้นด้วย ทางบริษัทขนส่งจำกัด ก็ได้รับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ

Advertisement

นายธนชาติ กล่าวต่อว่า ถือว่าผู้ประกอบการมีพฤติกรรมละเมิดกติกาต่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยการเอารัดเอาเปรียบแรงงานจากคนขับรถตู้ มีการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานโดยไม่เป็นธรรรม จึงเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่สองเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้อนุญาตให้ หจก.พลอยหยก เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะในการรับส่งผู้โดยสาร เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนในระบบห่วงโซ่ที่รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน จึงต้องมีหน้าที่ตรวจสอบ สอดส่องดูแลมิให้เจ้าของกิจการรถร่วมใช้แรงงานคนขับด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ควรปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของตน เพียงเพราะคิดว่าจะไม่ถูกตรวจสอบหรือดำเนินคดี เรื่องนี้คนขับมิได้นำรถเข้ารับผู้โดยสารในบริเวณจุดที่กำหนด แต่สามารถวิ่งไปกลับได้ถึง5รอบแต่ขาดการตรวจสอบจากบริษัทขนส่งจำกัด เป็นสภาพการทำงานที่เสี่ยงต่ออันตราย จนกระทั่งเกิดเหตุ บริษัทขนส่ง จำกัด เข้าข่ายมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน

นายธนชาติ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้บริการเห็นว่า ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจฯ ข้อ 9, 12 และ 15 ที่รัฐจะต้องทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่ปลอดภัย แต่กลับละเลยจนประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการรับบริการขนส่งสาธารณะ สภาทนายความจึงขอให้ภาครัฐตรวจสอบควบคุมและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัดและลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image