กรมอนามัยแนะ จัดงานวันเด็ก เน้นอาหารปลอดภัย ไม่บูดง่าย ใช้ภาชนะบรรจุจากธรรมชาติ

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2560 ณ สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติว่า การจัดกิจกรรมในวันเด็กมักจะมีการจัดเลี้ยงอาหารสำหรับเด็กที่มาร่วมงานหรือร่วมกิจกรรม ซึ่งต้องจัดเตรียมเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาในการเตรียมอาหารตั้งแต่เช้าและจัดเป็นอาหารกล่องไว้บริการหรือแจกเด็กๆ ดังนั้น ครู ผู้ปกครอง จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดของอาหารเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโรคจากอาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้ และควรเป็นอาหารที่กินง่ายและไม่บูดเสียง่าย เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวผัดปู อาหารประเภทยำหรืออาหารที่ปรุงโดยไม่ผ่านความร้อนหรือปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ขนมเอแคลร์ เป็นต้น

นพ.ณัฐพรกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องมีการปรุงอาหารครั้งละมากๆ คือความสะอาดปลอดภัย โดยก่อนปรุงควรมีการล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะผักสดและผลไม้ต้องล้างด้วยน้ำไหลประมาณ 2 นาที ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง หรือแช่น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องสวมใส่ผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม ควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนสัมผัสอาหาร หากมือมีแผลต้องปิดปลาสเตอร์และหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารโดยตรง แยกมีดและเขียงระหว่างอาหารดิบและสุก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างอาหารดิบกับอาหารปรุงสุก รวมทั้งระมัดระวังไม่นำสารเคมีอันตรายมาไว้บริเวณปรุงอาหารเด็ดขาด เพราะอาจปนลงในอาหารได้ และสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ การทำอาหารไว้ล่วงหน้าไม่ควรนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้ นอกจากนี้ น้ำแข็งที่นำมาใส่น้ำดื่มหรือน้ำผลไม้หวานน้อยไว้บริการเด็กๆ นั้นควรเป็นน้ำแข็งที่ได้มาตรฐานสำหรับการบริโภคเท่านั้น หากไม่แน่ใจว่าน้ำแข็งนั้นจะสะอาดหรือเปล่าควรหลีกเลี่ยง และเปลี่ยนเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดแช่เย็นจะดีกว่า

“ส่วนภาชนะบรรจุอาหารต้องสะอาด ปลอดภัย ควรแยกกับข้าวใส่ถุงพลาสติกต่างหาก และไม่วางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จแล้วตากแดดหรือวางบนพื้น ควรเขียนวันเวลาที่ผลิตไว้เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค เลือกใช้ภาชนะที่วัสดุทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ชานอ้อยผสมเยื่อไผ่ กล่องกระดาษ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มอก. เช่น จาน ชาม แก้ว กล่องข้าว ปิ่นโต เพื่อลดขยะ หรือใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว สำหรับห่อข้าวหรือขนม ทดแทนการใช้โฟมบรรจุอาหาร เนื่องจากอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วเมื่อสัมผัสกับความร้อนและไขมันในอาหาร อาจทำให้ให้มีสารเคมีจากโฟมบรรจุอาหารปนเปื้อนสู่อาหารได้” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image