ลำดับคดี “ครูจอมทรัพย์” จากศาลชั้นต้น ถึงศาลฎีกา

(แฟ้มภาพ)ครูจอมทรัพย์

เมื่อวันที่ 15 มกราคม เฟซบุ๊ก “โอภาส นามสมมุติ” ได้เผยแพร่ลำดับคดีของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ซึ่งต้องคดีขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย กระทั่งในภายหลังพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

เนื้อหามีดังนี้

ภาพรวมของกรณีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร
ต้องคดีขับรถชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย
สรุปจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา (1)

1. วันที่ 11 มีนาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง (คือช่วงหัวค่ำก่อนเที่ยงคืน) เป็นวันเกิดเหตุ มีรถกระบะชนรถจักรยานที่นายเหลือ พ่อบำรุง ขี่สวนทางมาในช่องเดินรถสวน เป็นเหตุให้รถจักรยานเสียหาย และนายเหลือ พ่อบำรุง เสียชีวิต

Advertisement

เหตุเกิดบนถนนสายธาตุน้อย –นาเหนือ ใกล้สะพานข้ามห้วยลำน้ำบัง บริเวณบ้านสร้างเม็ก ตำบลท่าลาด อำเภอเรณู จังหวัดนครพนม

นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ ขี่จักรยานยนต์ตามหลังรถกระบะมาจะกลับบ้านที่อำเภอนาแก พร้อมกับเพื่อนของนางทัศนีย์ อีก 3-4 คัน

นายแพง วงศ์แก้ว ขี่จักรยานตามหลังนายเหลือ พ่อบำรุงผู้ตายมา ห่างกันราว 50 เมตร

Advertisement

2. วันที่ 13 มิถุนายน 2548 นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร เข้ามอบตัวต่อร.ต.อ. ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง พนักงานสอบสวนสภ.อ.เรณูนคร จังหวัดนครพนม และปฏิเสธข้อหา

3. วันที่ 7 กรกฎาคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม โดยนายนารยะชน พวงจันทร์หอม ยื่นฟ้องนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร เป็นจำเลย ข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและไม่หยุดช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

4. นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาและต่อสู้คดี โดยมีนายเกรียงไกร ปริญญาพล รับเป็นทนายความ

5. ศาลจังหวัดนครพนม โดยนายศุภกิจ แย้มประชา และนางสาวเนตรนารี สิริยากรนุรักษ์

มีคำพิพากษาลงวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) (8) , 47, 78, 157 และ 160 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานขับรถโดยประมาทอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือทรัพย์สิน ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือเดือดร้อนของผู้อื่น ขับขี่รถแซงรถอื่นล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถในขณะมีรถอื่นสวนทางมา และประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90  จำคุก 3 ปี ฐานไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

6. ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 โดยนายจักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล นายบุญชู ทัศนประพันธ์ นางมัณทรี อุชชิน

มีคำพิพากษาลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่หรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมา จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลอุทธรณ์ภาค 4 อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา

โจทก์ฎีกา

7. ศาลฎีกา โดยนายพศวัจน์ กนกนาค นายศิริชัย วัฒนโยธิน และนายทวีป ตันสวัสดิ์

มีคำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556

ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ที่นำสืบมา รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ชนผู้ตาย แล้วจำเลยไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image