สร้าง”เมืองเดินได้-เดินดี” เร่งพัฒนากรุงเทพชั้นใน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2 ซึ่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาโครงการดังกล่าว เพื่อหาแนวทางการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเมืองให้ส่งเสริมการเดินเท้าในกรุงเทพฯ

ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี กล่าวว่า จากผลการศึกษาในระยะที่ 1 คือการศึกษาพื้นที่เดินได้ ชี้ชัดว่าพื้นที่เมืองของกรุงเทพฯที่สามารถเดินได้ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์กระจายตัวอยู่ในระยะที่เดินถึงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตชั้นใน อาทิ ย่านรัตนโกสินทร์ ย่านสยาม ปทุมวัน สาทร ย่านบางรัก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ย่านเยาวราช สำเพ็ง เป็นต้น โดยระยะทางที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เดินอยู่ที่ 800 เมตร หรือประมาณ 10 นาที เป็นการเดินเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ทั้งนี้ในระยะ 2 เป็นการศึกษาเมืองเดินดี คือเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย สะดวก และมีชีวิตชีวา ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 5 อุปสรรคที่ทำให้เมืองเดินได้แต่ยังไม่ดี คือมีสิ่งกีดขวางทางเดิน ขาดร่มเงาบดบังแสงแดดและฝน ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ทางเท้าสกปรก และทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ โดยผลการศึกษาขอเสนอให้มีการปรับปรุง 3 ขั้นตอน 1.หน่วยงานภาครัฐกำหนดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาทางเดินเท้า 2.สร้างหลักเกณฑ์กำหนดมาตรฐานและวิเคราะห์พื้นที่ และ3.วางแผนและออกแบบพื้นที่นำร่อง

นายพรสรร วิเชียรประดิษฐ์ หนึ่งในผู้ศึกษาโครงการ กล่าวว่า ในระยะที่ 2 ได้ทำการสำรวจเส้นทางถนนจำนวน 965 ถนน ใน 34 พื้นที่ พบว่ามีถนน 134 เส้นทาง หรือร้อยละ 14 เป็นเส้นทางที่สามารถพัฒนาให้เป็นทางเดินดี โดยมี 3 ย่านที่มีศักยภาพและประชาชนใช้เส้นทางจำนวนมาก ได้แก่ เกาะรัตนโกสินทร์ สยาม-ปทุมวัน และเยาวราช

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาโครงการดังกล่าว กทม.จะนำมาต่อยอดพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะใน 3 ย่านที่มีศักยภาพ ส่วนพื้นที่อื่นๆ นั้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เนื่องจากกทม.มีอุปสรรคและข้อจำกัดของเมืองในหลายด้าน อาทิ ขาดความร่มรื่น ปัญหาหาบเร่แผงลอย เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไข ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างเดินหน้าจัดระเบียบทางเท้าและเฝ้าระวังไม่ให้มีการกลับมาค้าขายอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image