เครือข่ายเอดส์ฯ จี้รัฐประกาศซีแอลคุมราคายา “ไวรัสตับอักเสบซี-ยาต้านไวรัสเอชไอวีฯ”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงข่าว “10 ปี ซีแอล(CL) และการเข้าถึงยาจำเป็น”

โดยนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลังจากการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐของไทยหรือซีแอลมา 10 ปี แม้จะแก้ปัญหาการเข้าถึงยาได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มยารักษาเอชไอวี/เอดส์ และยาโรคหัวใจและมะเร็ง แต่กำลังเผชิญปัญหาการเข้าถึงยาตัวอื่นๆอีก โดยเฉพาะยารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่ชื่อ โซฟอสบูเวียร์ ซึ่งมีราคาแพงมาก โดยพบว่าบริษัทยาต้นแบบยาตัวนี้ มีการผูกขาดยาทางด้านสิทธิบัตรอยู่ เนื่องจากการยื่นจดสิทธิบัตรขอทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึง 13 ฉบับ ทั้งที่เป็นยาตัวเดียว โดยหากผ่านการอนุมัติจะคุ้มครองยาวนานถึง 30 ปี ซึ่งเป็นการผูกขาดไปแล้ว ซึ่งยาตัวนี้มีราคาแพงมาตกเม็ดละ 30,000 บาท การรักษาต่อคอร์สระยะเวลา 3 เดือนอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ขณะที่ประเทศอินเดียผลิตยาชื่อสามัญชนิดเดียวกันได้ในราคาเม็ดละ 100 บาทเท่านั้น หรือตกคอร์สละ 20,000 บาทเท่านั้น

“ปัญหาคือ แม้อินเดียจะผลิตยาได้ในราคาถูก แต่พบว่า บริษัทต้นแบบมีการดำเนินการกีดกันทางการค้าในประเทศอินเดีย โดยมีการต่อรองเพื่อทำสัญญากับบริษัทผลิตยาชนิดนี้ในอินเดีย 11 บริษัทให้ผลิตยาตัวนี้ในราคา 100 บาทต่อเม็ด แต่มีข้อตกลงว่า ห้ามจำหน่ายในประเทศที่กำหนด ซึ่งประเทศไทยอยู่ในนั้นด้วย เห็นได้ชัดว่ามีการกีดกันทางการค้าชัดเจน ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐไทยต้องประกาศทำซีแอลยาตัวนี้” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว และว่า สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ณ ขณะนี้มีประมาณ 100,000 คน แต่ตัวเลขยังไม่ชัดเจน เพราะยังมีปัญหาเรื่องการคัดกรอง

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ แม้จะทานยาต้านไวรัสฯ และอาการดีขึ้น แต่ก็มีสิทธิเสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบซีได้ เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยเอชไอวีมีโอกาสป่วยโรคนี้เร็วกว่าคนทั่วไปถึง 10 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีต้องทนทรมานกับการรับยารูปแบบเดิม ซึ่งเป็นยาฉีด ต้องใช้เวลารักษานานเป็นปี โดยต้องทนกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเหมือนการให้คีโม อีกทั้ง ประสิทธิภาพการรักษาอยู่ที่ร้อยละ 70 แต่หากใช้ยาตัวใหม่คือ โซฟอสบูเวียร์จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 90

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมียาตัวอื่นๆที่จำเป็นต้องทำซีแอลเช่นกัน คือ ยากลุ่มต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ ประกอบด้วย ยาโคลูเท็กราเวียร์(dolutegravir) ซึ่งยานี้ยังไม่มีขายในไทย และยาราลเท็กราเวียร์(raltegravir) โดยเป็นยาสูตรพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่มีผลข้างเคียง เหมือนยาสูตรพื้นฐานปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นยาทางเลือกสำหรับผู้ป่วยดื้อยา ซึ่งปัจจุบันมีประมาณร้อยละ 10 จากผู้ป่วยที่รับยาต้านไวรัสฯราว 4 แสนคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image