เร่งเจาะ 4 พันบ่อบาดาลรับแล้ง เพิ่มน้ำต้นทุนผ่านบ่อสังเกตการณ์1,524 บ่อ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แถลงความคืบหน้า “การเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และวิธีการเพิ่มน้ำต้นทุนจากบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาลตามมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้งของรัฐบาล

นายสุพจน์ กล่าวว่า มาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้งของรัฐบาลทั้ง 8 มาตรการ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับผิดชอบในมาตรการที่ 6 คือการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยในปีงบประมาณ 2559 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งรวม 6,000 บ่อ โดยเร่งดำเนินการในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 2,000 บ่อ และภายในเดือนเมษายน จะเร่งดำเนินการอีก 2,000 บ่อ ส่วนอีก 2,000 บ่อจะอยู่นอกเขตชลประทานและลุ่มแม่น้ำอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เร่งด่วน ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้จะไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน 225,733 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 131,600 ไร่

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเพิ่มน้ำต้นทุนผ่านเครือข่ายบ่อสังเกตการณ์ ซึ่งมี 864 สถานี จำนวน 1,524 บ่อ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพน้ำแล้ว ยังสามารถพัฒนาบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อผลิตน้ำบาดาลเพื่อปรับเป็นจุดแจกจ่ายน้ำบาดาลได้อีก ซึ่งมีปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 161 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนการผ่อนผันให้ใช้น้ำบาดาลในกรณีวิกฤตภัยแล้งรุนแรงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลทลที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่แล้ว ซึ่งหากเกิดกรณีน้ำประปาขัดข้องหรือไหลอ่อน ให้ใช้น้ำบาดาลเพื่อเป็นวัตถุดิบหรือในกระบวนการผลิตเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลได้วันละ 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนโรงงานกอุตสาหกรรมที่ต้องการเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม สามารถแจ้งให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกใบอนุญาต เพื่อทำการตรวจสอบและประเมินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคผ่านโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” โดยเปิดจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ 89 แห่ง ในวันที่ 1 มี.ค. นี้ด้วย รวมทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเจาะน้ำบาดาล และพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ร่วมกับระบบประปาผิวดินในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image