“ธง” เลือก “เลขาธิการ สพฉ.” พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

ในที่สุดการเลือกเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือเลขาธิการ สพฉ.ก็ได้ข้อยุติ โดยกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) มีมติเลือก ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา อดีตผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. ที่ผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ โรงพยาบาลกรุงเทพ สร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือ

ผู้ป่วยฉุกเฉิน นั่งเก้าอี้ต่อจาก นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ.คนปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ด้วยคะแนน 12 ต่อ 17 เสียง ทิ้งห่างคู่แข่งชนิดไม่เห็นฝุ่น

การสรรหาเลขาธิการ สพฉ.รอบนี้ อาจเหนือความคาดหมายไปบ้าง แต่ก็ไม่มาก เพราะจากการพูดคุยกับแหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข รวมทั้งในแวดวงการแพทย์ฉุกเฉินต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่า นพ.อนุชา ซึ่งเป็น 1 ในแคนดิเดต อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาต่ออีกสมัย แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่า ไม่แน่! สุดท้ายเป็นไปตามนั้น

ลือสะพัดว่า สาเหตุที่มีการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่การแพทย์ฉุกเฉิน เกิดจากฝ่ายนโยบายต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการทำงาน ที่ต้องการให้ “รวดเร็ว” และ “เป็นจริง” โดยเฉพาะนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” หรือเอ็มโก้ (EMCO) ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนในทุกสิทธิสุขภาพภาครัฐได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤต โดยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาที่ รพ.ไหนก็ได้ แม้แต่ รพ.เอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน ภายในเวลา 72 ชั่วโมง แต่ให้ รพ.นั้นๆ ไปเบิกจ่ายกับกองทุนเจ้าของสิทธิแทน

Advertisement

เหตุผลที่ต้องการความเร็วและทำได้จริง เพราะปัญหาที่ผ่านมา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ภาคประชาชนยังร้องเรียนว่าถูก รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินอยู่ตลอด นั่นเพราะนโยบายนี้บังคับ รพ.ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ระบุชัดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้พ้นจากอันตราย แต่ด้วยปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาของ รพ.เอกชน มองว่าไม่คุ้มกับต้นทุน หลายแห่งจึงกระอักกระอ่วนใจในการเข้าร่วมโครงการ ยิ่งไม่มีกฎหมายบังคับ ยิ่งไปกันใหญ่

นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ฝ่ายนโยบายมองว่า การทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย…

ประกอบกับในช่วงการสรรหาเลขาธิการ สพฉ. นายต่อพงษ์ ส่งศรีโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อีเมอเจนซี เมดิคอล เซอร์วิส เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ในผู้สมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการ สพฉ. พร้อมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด กพฉ. คัดค้านการลงชิงเก้าอี้เลขาธิการ สพฉ.อีกสมัยของ นพ.อนุชา เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะอยู่ระหว่างถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีนายต่อพงษ์ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาการรับรองจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยปฏิบัติการแพทย์ชั้นสูง ซึ่งขณะนั้นมี นพ.อนุชาเป็นเลขาธิการ สพฉ.

Advertisement

ที่สำคัญยังขอให้ยุติกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สพฉ.ทั้งๆ ที่คณะกรรมการสรรหาที่มี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ.เป็นประธาน ได้พิจารณาและคัดเลือกไว้แล้ว 3 คน จากผู้สมัคร 9 คน ประกอบด้วย นพ.อนุชา ร.อ.นพ.อัจฉริยะ และ นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี และเตรียมเสนอรายชื่อทั้งหมดส่งต่อบอร์ด กพฉ.แล้วก็ตาม ทำเอาหลายคนเข้าใจว่า เรื่องนี้อาจมีผลต่อ นพ.อนุชาด้วยหรือไม่

แต่สุดท้ายความกระจ่างก็ปรากฏ เมื่อ นพ.ปิยะสกลได้ชี้แจงในวันเดียวกับที่กระบวนการสรรหาเลขาธิการ สพฉ.เสร็จสิ้น ว่าในการพิจารณาเลือกเลขาธิการ สพฉ.นั้น กรรมการแต่ละคนไม่ได้พูดถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมของ นพ.อนุชาในการลงสมัครเลขาธิการ สพฉ. เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่าไม่ขัดต่อระเบียบ หรือกฎหมายการรับสมัครแต่อย่างใด เพราะ ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับเรื่องหรือตัดสินกรณีนี้ การที่ นพ.อนุชาถูกร้องเรียนจนกรรมการสรรหาต้องตัดสิทธิ นพ.อนุชาดูจะไม่เป็นธรรม ดังนั้น กรรมการจึงพิจารณารายชื่อตามที่กรรมการสรรหาเสนอมาทั้ง 3 คน และพิจารณาจากคุณสมบัติ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ของแต่ละคน

การสรรหาเลขาธิการ สพฉ.ครั้งนี้บอร์ด กพฉ.ลงคะแนนให้ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ถึง 12 เสียง ส่วน นพ.ไพโรจน์ และ นพ.อนุชา ได้คนละ 2 เสียง และอีก 1 เสียงไม่ลงคะแนน

แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขให้ความเห็นว่า ร.อ.นพ.อัจฉริยะเป็นแพทย์ทำงานด้านฉุกเฉินรุ่นใหม่ แม้จะเคยทำงานใน สพฉ.มาก่อน แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าการทำงานจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจะสามารถซื้อใจบุคลากรภายในองค์กรได้หรือไม่

ด้าน นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้คงไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก ต้องรอให้ ร.อ.นพ.อัจฉริยะทำงานก่อน ซึ่งชมรมเพื่อนโรคไตฯและเครือข่ายภาคประชาชนจะเฝ้าติดตามการทำงานของ สพฉ.ต่อไป โดยเฉพาะนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน

งานนี้ก็ต้องรอต่อไป!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image