‘สธ.-มท.-สปสช.-สสส.’ เปิด ‘9 เมืองที่พ่อสร้างก้าวย่างที่ลูกตาม’ ชูผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าว “โครงการ 9เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม” ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำสารคดี “9เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม” เผยแพร่ความสำเร็จของการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนของทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพอำเภอ โดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (District Health Board : DHB) นำเสนอผลงานของแต่ละพื้นที่ ที่น้อมนำหลักการทรงงาน แนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นแนวทาง และสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและการทำงาน และพัฒนาต่อยอดสิ่งที่พระองค์ท่านทรงวางรากฐานไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

โดยคัดสรร 9 เรื่อง จาก 73 พื้นที่นำร่องได้แก่ 1. อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สานต่อโครงการพระราชดำริและการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านนวัตกรรมโบว์แดงแสลงใจ 2. อ.ปัว จ.น่าน อดีตพื้นที่สีแดงที่พ่อได้พัฒนาโดยเล็งเห็นความสำคัญของผืนป่าและต้นน้ำ นำสู่การสานต่ออนุรักษ์น้ำและป่าไม้ ลดการใช้สารพิษในสิ่งแวดล้อม และป้องกันผู้ป่วยโรคมะเร็ง 3. อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เครือข่ายภาคประชาชนที่จับมือร่วมกับท้องถิ่นและระบบสุขภาพ 4. อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ด้วยการทำงานที่เชื่อมโยงของภาคประชาชน ท้องถิ่น และระบบสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน 5. อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยการหลอมรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นในการดูแลสุภาพ 6. อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กับเป้าหมายการทำงานเพื่อเตรียมคนให้มีคุณภาพ 7. อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กับการตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงที่ส่งผลต่อสุขภาพในชุมชน 8. อ.นาทวี จ.สงขลา กับระบบจัดการช่วยเหลือและดูแลผู้พิการ 9. อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กับเครือข่ายการทำงานสังคมคนพิการที่ไม่ทอดทิ้งกัน โดยดึงพลังของชุมชนเข้าร่วมที่ส่งผลต่อสถานการณ์ความสงบในพื้นที่

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า แนวคิดการปฏิรูปให้เกิดระบบสุขภาพระดับอำเภอ โดยเปลี่ยนโรงพยาบาลร่วมดูแลพื้นที่ ซึ่งไม่ลดความสำคัญของโรงพยาบาลและปรับมิติการให้บริการจากโรคเป็นประชาชน ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ สสส.จึงสนับสนุนให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงทรัพยากรจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน และท้องถิ่น พร้อมกับระบบข้อมูล คลังความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ และการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ระบบสุขภาพอำเภอตอบโจทย์สุขภาพของประชาชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ใช่ที่โรคภัย จึงทำงานผ่านพื้นที่นำร่องที่สมัครใจ 73 อำเภอ และจะขยายพื้นที่ดำเนินการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 250 อำเภอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image