สภา กทม.ไฟเขียวตั้งคกก.วิสามัญจ่ายหนี้คืนบีทีเอส พิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนกลางเดือน ก.พ.นี้

สภา กทม.ไฟเขียวตั้งคกก.วิสามัญจ่ายหนี้คืนบีทีเอส พิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนกลางเดือน ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ในตอนหนึ่ง นายชัชชาติเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. … พร้อมกับรายงานสถานะการเงินการคลังของ กทม. ณ วันที่ 16 ม.ค. 67 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว และเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน จำนวน 51,804.22 ล้านบาท

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ต้องรับมอบทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 และชำระค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ตามโครงการดังกล่าว จึงเสนอสภา กทม.ให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 23,488,692,200 บาท ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 46 คน งดออกเสียง 1 คน จากผู้เข้าประชุม 47 คน และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. … จำนวน 23 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 3 วันทำการ และกฎหมายได้กำหนดไว้ให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องพิจารณาให้ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภา กทม.ได้รับร่างข้อบัญญัติเป็นครั้งแรก

ด้านนายชัชชาติเปิดเผยภายหลังว่า การประชุมในวันนี้เป็นวาระที่ต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว ที่สภา กทม.มีมติเห็นชอบโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ผ่านมาการก่อหนี้ผูกพันต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม. เป็นการตั้งญัตติเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ มีคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษารายละอียด ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน แต่ทางสภา กทม.เห็นว่าควรรีบพิจารณาให้แล้วเสร็จ สภา กทม.จึงมีมติขยายเวลาสมัยประชุมสภาครั้งที่ 1 ไปอีก 15 วัน จากนั้นจะเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 และออกเป็นข้อบัญญัติต่อไป

ในชั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องหารือกับทาง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และอาจจะมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อสรุปตัวเลขและความรับผิดชอบต่างๆให้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

Advertisement

ส่วนกรณีที่ประชาชนสงสัยว่าทำไม กทม.มีเงินสะสมจ่ายขาดจำนวนมาก นายชัชชาติกล่าวว่า พยายามใช้งบประมาณอย่างประหยัด โดยปีที่แล้วมีเงินเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท แต่ในอนาคต กทม.ยังมีภาระผูกพัน เช่นค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าที่ยังอยู่ในศาลปกครอง กว่า 20,000 ล้านบาท รวมถึงค่ารถดับเพลิงที่ยังอยู่ในศาลปกครองเช่นเดียวกัน ดังนั้นตัวเลขเงินสะสมจ่ายขาดอาจจะไม่เยอะกับภารผูกพันในอนาคต จึงต้องใช้เงินอย่างรอบคอบ และพยายามหารายได้เพิ่มเข้ามา และใช้โครงการอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) เป็นเรื่องสำคัญ สุดท้ายถ้า กทม.ไม่ได้เป็นเจ้าของ แล้วเกิดมีปัญหาในอนาคต กทม.จะไม่มีอำนาจต่อรอง จนมีการกยุดเดินรถ ซึ่งมีคำแนะนำจากหลายฝ่ายให้แยกตรงนี้ออกมาก่อน

“มีการทำความเข้าใจ ส.ก.มีความเข้าใจรายละอียด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราพยายามชี้แจงมาโดยตลอด มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ มติที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ เราก็มาถูกทางแล้ว” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image