“สันติ” ชูเพชรบูรณ์ เป็นโมเดลนำร่อง ‘Healthy Cities MODELs’ สร้างอัตลักษณ์ซอฟต์เพาเวอร์สุขภาพ เพิ่มรายได้ชุมชน – เศรษฐกิจประเทศ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีเปิด ”มหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์“ (Good Health @Phetchabun) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ หอประชุม 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ โดยมี พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารจังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมงานกว่า 3,000 คน
นายสันติ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศและสร้างงานให้กับประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ผลักดันให้มีการพัฒนาเมืองต้นแบบสุขภาพ (Healthy Cities MODELs) “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน” เป็นต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ในทุกจังหวัด นอกจากจะมุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการกินดี อยู่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Healthy Cities MODELs แล้ว 20 ชุมชน ซึ่งเป็นโมเดลขับเคลื่อน Healthy Cities MODELs และอยู่ระหว่างพิจารณาคัดเลือกชุมชนต้นแบบอีก 10 แห่ง ซึ่งจะเร่งขยายให้ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยเฉพาะการเป็นโมเดลต้นแบบการถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ,นวดแผนไทย ,สมุนไพรไทย, อาหารไทย จากกระทรวงสาธารณสุขให้กับ อสม. เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาในชุมชนนายสันติกล่าวต่อว่า กรมอนามัย ได้มอบป้าย SAN Certificate “สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน” สำหรับสถานประกอบการทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และอาหารริมบาทวิถี ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสุขาภิบาล ขณะที่ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP/SMEs) ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร หากผ่านการรับรองแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะมอบตราสัญลักษณ์ DMSc product ให้กับสินค้านวัตกรรม เพื่อแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ในการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่วนกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ต่อยอดการพัฒนา “ศูนย์เวลเนส” ที่มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ที่พักนักท่องเที่ยว (โรงแรม/รีสอร์ท) 2.ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3.ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 4.สปาเพื่อสุขภาพ และ 5.สถานพยาบาล ให้เป็น “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย (TWD)” ที่มีการนำอัตลักษณ์ไทยและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นมาผสมผสานกับองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีศูนย์เวลเนส 11 แห่ง ได้รับการรับรองแล้ว 3 แห่ง และมีแผนจะรับรองเวลเนสอัตลักษณ์ไทย 4 แห่ง
“ในปี 2567 มีเป้าหมายจะขยายไปยังชุมชนในจังหวัดต่างๆ ให้มากที่สุด ตามศักภาพของบุคลากรทางการแพทย์ โดยในปีนี้ได้มีการของบประมาณเพิ่มแพทย์อีก 30,000 คน เพื่อลดการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่“ นายสันติกล่าว