หมอเตือน ระวังติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกช่วงตรุษจีน หลังกัมพูชามีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นรายแรก

หมอเตือน ระวังติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกช่วงตรุษจีน หลังกัมพูชามีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นรายแรก

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะมาถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากจะเตรียมพิธีไหว้บรรพบุรุษ โดยนำของไหว้หลากหลายชนิดมาประกอบพิธี เช่น เป็ด ไก่ ผลไม้ และอาหารมงคลต่างๆ แต่จากการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค มีรายงานล่าสุดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชายืนยันพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2565 พบเด็กเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจากการติดตามการระบาดของโรค พบว่า ส่วนใหญ่ติดมาจากสัตว์ปีกที่มีเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก มาตั้งแต่ปี 2549 หรือเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดนก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เอเวียน อินฟลูเอนซ่า ไวรัส และเชื้อที่ติดมาสู่คน มักจะเป็นไวรัสชนิด H5N1 ติดต่อสู่คนได้ทั้งจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วย และสัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจะแสดงอาการซึม ซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด ไอ จาม หายใจลำบาก หน้าบวม หงอนและเหนียงบวม ตาปิดเนื่องจากหนังตาบวม ท้องเสีย

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประชาชนมักจะเลือกซื้อเป็ด-ไก่มาไหว้เจ้า จึงต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าประมาท โดยขอให้ยึดหลัก “เลือก หลีก ล้าง” ได้แก่ เลือกซื้อ เป็ด ไก่ และไข่จากร้านที่สะอาดปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ และปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน ซึ่งเป็ดไก่ที่เตรียมไว้ใช้ในพิธีไหว้มักนิยมต้มแบบไม่ให้สุกมากนัก จึงต้องนำมาปรุงให้สุกอีกครั้งก่อนจะนำมารับประทาน นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงนำสัตว์ปีกที่ป่วยมาประกอบเป็นอาหาร และขณะประกอบอาหาร ควรแยกเขียงหั่นผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ปรุงสุกแล้ว กับเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสด แยกออกจากกัน และที่สำคัญ คือ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสัตว์และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์

ADVERTISMENT

ซึ่งหากผู้เลี้ยงมีไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตายผิดปกติไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ รพ.สต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล หรือ อบต.ทันที เพื่อลงไปตรวจสอบและฉีดพ่นย่าฆ่าเชื้อโรค ส่วนการจับซากสัตว์ ให้สวมถุงมือยางขณะจับ แต่หากไม่มีถุงมือยางให้ใช้ถุงพลาสติกหนาๆ สวมมือ นอกจากนี้ ให้ผู้เลี้ยงสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ ไอ เจ็บคอหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วย-ตาย ให้สวมหน้ากากป้องกันโรค แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image