บิ๊กเต่า เข้าพบ ‘ธนกฤต’ ผู้ช่วย รมต. หลังพบเคยตกเป็นเหยื่อแก๊งข่มขู่รีดทรัพย์แลกยุติเรื่องร้องเรียน โครงการประมูลสัมปทานกำไล EM
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีตบทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงความคืบหน้าคดีดังกล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ ได้เรียกประชุมคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยตำรวจจาก บก.ปปป. ตำรวจกองบังคับการปราบปราม และตำรวจจาก บก.ปอท. มาประชุมคณะทำงานชุดใหญ่เพื่อเป็นการเปิดเริ่มการทำงานในรูปแบบองค์คณะ
โดยเนื้อหาจะเน้นหนักไปที่ความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนที่ บก.ปปป. ได้เริ่มดำเนินการไว้ ข้อมูลการสอบปากคำ ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ที่สามารถเก็บรวบรวมได้จากส่วนต่างๆ และรายละเอียดอื่นๆ ในคดีรวมถึงการขยายผลไปยังกลุ่มผู้ต้องหาและผู้ร่วมขบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะทำงานทั้งหมดทราบความคืบหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถทำงานสืบสวนสอบสวนกันได้อย่างต่อเนื่อง
พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากนั้นจะแบ่งหน้าที่การทำงานของแต่ละส่วนว่าจะมอบหมายการทำงานในส่วนใดให้บ้าง ซึ่งในเบื้องต้นแม่งานยังคงเป็น บก.ปปป.ที่เริ่มเปิดคดีมาก่อนหน้านี้ ส่วนกองบังคับการปราบปรามจะดูหน้างานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนทำสำนวนคดีช่วยเหลือสนับสนุนงานของ บก.ปปป.ให้ดำเนินการได้ทันตามกำหนดส่งสำนวนให้อัยการภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า ส่วนทาง บก.ปอท. จะรับผิดชอบในส่วนของเรื่องการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มผู้ต้องหาพยานส่วนที่เกี่ยวข้อง และดึงข้อมูลต่างๆ ออกมาให้ชุดสืบสวนสอบสวนใช้ดำเนินการต่อ
“นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องการเปิดคดีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 3-4 คน ซึ่งไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับกระทรวงต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายมีความประสงค์จะเข้าแจ้งความแล้วหลายคน โดยจะพิจารณาว่าคดีสามารถดำเนินการได้ หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกลุ่มผู้ต้องหา และจะแยกเป็นคดีใหม่ต่างกรรมต่างวาระไป เชื่อว่าวันนี้อาจใช้เวลาในการประชุมค่อนข้างนานมากกว่า 1-2 ชั่วโมง
ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. วันเดียวกัน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.ได้เดินทางไป ที่ อาคารศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าพูดคุยกับ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้บังคับบัญชาของรองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลในโลกโซเชียลว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2565 ในช่วงที่นายธนกฤต ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถูกกลุ่มบุคคลเข้าไปพูดคุยและร้องเรียนเพื่อหวังจะตบทรัพย์
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.กล่าวว่า วันนี้ได้รับการประสานมาจาก นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี (สมศักดิ์ เทพสุทิน) ว่า อยากจะช่วยเหลือในการทำงานคดีรีดทรัพย์อธิบดีกรมการข้าวของตำรวจ บก.ปปป. ในประเด็นการขยายผลวงนักร้อง ซึ่งจากการพูดคุยเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก และตรงต่อข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอยู่ ซึ่งหลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมหลักฐานและประสานงานกับทาง ป.ป.ช เพื่อดำเนินการต่อ
ส่วนหน่วยงานราชการที่ถูกรังแก หรือประสบเจอปัญหาอย่างกรณีการเรียกทรัพย์อธิบดีกรมการข้าวและไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้เพื่อที่จะกำจัดเหลือบไร คือ ต้องร่วมมือกับตำรวจ โดยนายกองตรี ดร.ธนกฤต มองเห็นในความไม่ยุติธรรมในเรื่องดังกล่าว จึงขอให้ข้อมูลการขยายผลในคดี ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องเชิญ นายกองตรี ดร.ธนกฤต ไปสอบปากคำเพิ่มเติมในฐานะพยานอย่างเป็นทางการในภายหลัง
ด้าน นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า การร้องเรียนเรื่องต่างๆ ที่หน้าศูนย์ร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล หลังจากนี้ต้องฝากไปถึงวงการนักร้อง ต้องพิจารณาให้รอบคอบและมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการเข้ามาร้องเรียนที่แห่งนี้ ซึ่งตนได้ประสบด้วยตนเอง มีข้อมูลและไทม์ไลน์ที่ชัดเจน วันนี้จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมอบให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ที่เหลือคงเป็นการให้ข้อมูลช่วยเหลือในด้านคดีกับตำรวจ ซึ่งหลังจากนี้หวังว่าจะมีมาตรการ หรือข้อกฎหมายในการร้องเรียนเรื่องต่างๆ เข้ามาควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนักร้องศรีสุวรรณอีก และไม่ให้เป็นการร้องเรียนกันไปมาโดยไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนกับนักร้องทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีของนายกองตรี ดร.ธนกฤตนั้น เป็นกรณีของ โครงการประมูลสัมปทานกำไล EM ของกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปี 2565 นาย ศ. และนาย จ. ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการดังกล่าวว่าอาจมีการทุจริต แต่หลังจากนั้นพบว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2565 นาย จ.ได้เดินทางเข้าพบนายกองตรีธนกฤต ซึ่งเป็นเลขานุการของรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ห้องทำงานภายในกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะมีการพูดคุยเจรจาเพื่อขอเรียกรับเงินจำนวนหนึ่ง แต่นายกองตรีธนกฤตไม่ได้ตกลงจะมอบเงิน หรือทรัพย์สินให้ ก่อนที่จะมีการนำเรื่องไปร้องเรียนที่กรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา
จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งผลออกมาชัดเจนทั้ง 2 หน่วยว่ารัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ทำการทุจริต แต่เป็นการดำเนินการที่ผิดสัญญาและสเปกที่กระทรวงระบุไว้ จึงได้มีการเรียกร้องให้จ่ายค่าปรับและยกเลิกสัญญาดังกล่าว
ต่อมาในปี 2567 พบว่า นาย ศ. และนาย จ. ยังคงยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการชุดใหม่ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวซ้ำอีก จึงมองว่าเป็นเรื่องการกระทำที่ไม่ถูกต้องและอาจเข้าข่ายการข่มขู่ตบทรัพย์ จึงให้ทนายความไปทำการเจรจากับนาย ศ. ที่บ้าน เมื่อวันที่ 14 มกราคม เวลา 19.50 น ซึ่งนาย ศ. ได้มีการเรียกรับเงินค่าดูแลอีกครั้ง