ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อัญเชิญ ‘พระบรมสารีริกธาตุ-พระอรหันตธาตุ’ จากอินเดียมาไทย
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานในพิธีบวงสรวงจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ที่รัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ส่งมอบให้ประเทศไทย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์-19 มีนาคม โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ นำประกอบพิธีบวงสรวง
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับรัฐบาลอินเดีย กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดำเนินงานโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย โดยพระบรมสารีริกธาตุ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2441 อัญเชิญมาจากพิพิธภัณฑ์กรุงนิวเดลี ซึ่งถูกขุดพบจากสถูปโบราณ เมืองปิปราห์วา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองกรุงกบิลพัสดุ์ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานเป็นจารึกอักษรพราหมีบนผอบ แปลว่า “ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของสากยราชสุกิติ กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภิคินี พระโอรสและพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวาย” ส่วนพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พบเมื่อปี พ.ศ.2394 อัญเชิญมาจากสถูปเมืองสาญจี บรรจุในผอบซึ่งมีจารึกอักษรพราหมีว่า “สาริปุตส” แปลว่า (พระธาตุ) ของพระสารีบุตร และ “มหาโมคลานส” แปลว่า (พระธาตุ) ของพระมหาโมคคัลลานะ
รัฐมนตรีว่าการ วธ. กล่าวอีกว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุมาประดิษฐานให้ศาสนิกชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลอย่างสูงสุดในชีวิต โดยกำหนดอัญเชิญประดิษฐานในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์-19 มีนาคม ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร จากนั้น เคลื่อนไป จ.เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่ ทั้งนี้ สำหรับแนวความคิดในการออกแบบมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะฯ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง นั้น ออกแบบโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร รูปแบบสถาปัตยกรรมเลือกใช้รูปแบบอาคารแบบมณฑป ซึ่งเป็นอาคารเครื่องยอดที่มีฐานานุศักดิ์ อาคารสูงสุดในงานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ภายในอาคาร ติดตั้งระบบปรับอากาศ และระบบควบคุมความชื้นเพื่อความคุมอุณหภูมิและความชื้นภายในอาคาร นอกจากนี้ ยังได้จัดทำผอบทรงเจดีย์ลวดลายแบบไทยประเพณีสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุด้วย
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงาน หลังจากที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ถึงประเทศไทย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์แล้ว ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 16.00 น. รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา เป็นขบวนอัญเชิญธงชาติไทย อินเดีย ธงธรรมจักร และธงฉัพพรรณรังสี ขบวนโคมประทีปและโคมดอกบัว รถบุปพชาติ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ขบวนเฉลิมพระเกียรติ ขบวนชุดประจำชาติไทยและอินเดีย เคลื่อนจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และในเวลา 17.00 น. จะมีพิธีเปิดงาน และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม จะเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ระหว่าง เวลา 09.00-20.00 น.
“เมื่อครบกำหนดแล้ว จะอัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด ให้ประชาชนได้เข้าสักการะบูชา ได้แก่ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5-8 มีนาคม ที่หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10-13 มีนาคม ที่วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม ที่วัดมหาธาตุวชิรมงคล จ.กระบี่ โดยเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่ และจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะด้วย” นายเสริมศักดิ์ กล่าว