เคสแรกในอีสาน แพทย์ ม.ขอนแก่น ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รักษา โรคหนังแข็ง สำเร็จ

เคสแรกในอีสาน แพทย์ ม.ขอนแก่น ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รักษา โรคหนังแข็ง สำเร็จ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแถลงข่าว “ความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน” ณ ห้องประชุมหนองแวง อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์

รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความก้าวหน้าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ว่า ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย ซึ่ง “การรักษาผู้ป่วยโรคหนังแข็งในอดีตนั้น มีเงินก็รักษาไม่ได้” แต่การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด นับเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบันและอนาคต

Advertisement

รู้จักโรคหนังแข็ง เกิดจากอะไร–อันตรายแค่ไหน?

ขณะที่ ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์เจ้าของไข้ เปิดเผยว่า โรคหนังแข็ง (Scleroderma ) เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ร่างกายผลิตเส้นใย คอลลาเจนออกมาอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นการสร้างพังผืด ส่งผลให้พังผืดไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดผิวหนังตึงแข็ง บริเวณใบหน้า นิ้วมือ นิ้วเท้า แขนขา หน้าอก หน้าท้อง และลามไปถึงอวัยวะภายในได้ เช่น ภาวะปอดเป็นพังผืด และกล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ซึ่งอันตรายจนอาจพิการและเสียชีวิตได้ โดยทั่วประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 24:1 แสนคน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 40/1 แสนคน ส่วนใหญ่พบในวัยกลางคน-วัยสูงอายุ (ราว 40-50 ปี) และพบในคนอายุน้อยได้น้อยมาก

สำหรับ “นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว” ผู้ป่วยหญิงรายนี้เริ่มป่วยและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหนังแข็งตั้งแต่อายุ 14 ปี ซึ่งมีการติดตามการรักษากับกุมารแพทย์ กระทั่งเดือนสิงหาคม 2561 เริ่มมีอาการนิ้วมือซีดเขียวเมื่อสัมผัสความเย็น และสีผิวเริ่มคล้ำขึ้น ผิวหนังเริ่มแข็งตึงบริเวณนิ้วมือลามไปถึงหลังมือ และแขนทั้ง 2 ข้าง แม้จะรักษาด้วยยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน แต่ผิวหนังก็ยังคงแข็งตึง และเริ่มมีรอยกระดำกระด่างตามใบหน้า ลำคอ แขน และขา

Advertisement

รักษาโรคหนังแข็งด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

ศ.พญ.ชิงชิง ระบุอีกว่า เมื่อผู้ป่วยในวัย 18 ปี ได้ถูกส่งตัวมาเพื่อรักษาต่อกับอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งขณะนั้นมีภาวะพังผืดลามไปที่ปอด แต่มีรอยโรคเพียงร้อยละ 10 ของปอด ผิวหนังแข็งตึง จึงได้วางแผนรักษาด้วยการทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง หลังรักษา 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีผิวนุ่มขึ้น และในเดือนที่ 3 ข้อต่อดีขึ้นจนสามารถเหยียดนิ้วมือ ข้อศอก และแขน ได้สะดวก และสีผิวกลับเป็นปกติอย่างเห็นได้ชัด การทำงานของอวัยวะภายในคงที่ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ สามารถช่วยเหลือตนเองได้และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ

“การรักษาผู้ป่วยในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งแรก เคสแรกในภาคอีสาน และเป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยที่สุดด้วย ทำให้เราตัดสินใจเร่งรักษาเพื่อให้น้องได้ใช้ชีวิตในอนาคตอย่างมีความสุข ซึ่งหลังจากนี้จะติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถหายขาดจากโรคหนังแข็งได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี”

ขณะเดียวกัน นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว ผู้ป่วยบอกเล่าความรู้สึกว่า อยากขอบคุณโรงพยาบาลและทีมแพทย์ เพราะก่อนรักษามีความลำบากในการใช้ชีวิตมาก ช่วงฤดูหนาวจะรู้สึกหนาวกว่าปกติ มีแผลเกิดขึ้นตามซอกนิ้ว ตามข้อต่าง ๆ ยกแขนไม่ได้ แม้แต่เจาะเลือดก็ไม่มีเลือดเพราะเส้นเลือดถูกรัดไว้เนื่องจากผิวตึงมาก ทำให้ไปเรียนลำบากจนขาดเรียนบ่อยครั้ง หลังเข้ารับการรักษา มีความสุข ตลอดเวลารักษา เพราะอาการดีขึ้นมาก แต่สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ทำกิจกรรมกับเพื่อนได้มากขึ้น มีทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอ

“อยากขอบคุณโรงพยาบาลและทีมแพทย์ที่มอบชีวิตใหม่ให้หนู และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ป่วยเป็นโรคหนังแข็งนี้ ให้สู้ต่อไป อย่ายอมแพ้ เพราะยังมีทีมแพทย์ที่จะช่วยรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สู้ ๆ อย่าท้อนะคะ”

ที่มา ม.ขอนแก่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image