ระทึก!! ทีมผู้เชี่ยวชาญทางทะเล-หมอ ดำน้ำช่วยชีวิตฉลามวาฬ หางติดเชือกอวน ท่ามกลางคลื่นลมในอ่าวไทย

ภาพ จาก ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ / บริษัท MUBADALA

วันที่ 28 มกราคม ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ช่วยคณะบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย แท่นนงคราญ ของบริษัท MUBADALA พบฉลามวาฬ ซึ่งปกติแล้ว จะว่ายน้ำไปมาอยู่บริเวณรอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน แต่ล่าสุดนั้นพบว่า ที่บริเวณหางมีเชือกติดอยู่ เจ้าหน้าที่ของแท่นพยายามดำน้ำลงไปช่วยปลดเชือก แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะคลื่นลมแรงมาก จึงประสานงานมาที่ตนจึงประสานขอความร่วมมือไปยัง สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ซึ่งได้มีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำหรับออกไปช่วยเหลือฉลามวาฬตัวนี้ ทีมงานประกอบด้วย 1. ผศ.ชาย วรชนะนันท์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล 2. นายรังสิวุฒิ แก้วแสง สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล 3. นายสุทธิรัตน์ แดงสกุล สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล 4. นส.แน่งน้อย ยศสุนทร ชมรมดำน้ำ SOS 5. นายสมยศ ยศสุนทร ชมรมดำน้ำ SOS 6. สพ.ญ.วัชรา ศากรวิมล ทช. 7. และ นสพ.เจนวิทย์ วานิช – ทช ทั้งหมดเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ที่ทางบริษัท MUBADALA ส่งมารับ เพื่อเดินทางไปบริเวณแท่นขุดเจาะ นงคราญ

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดนั้น ได้รับแจ้งว่า ทีมงานทั้งหมด ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินตามฉลามวาฬตัวที่ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ซึ่งมองจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว เห็นถึงความไม่ปกติระหว่างการว่ายน้ำ โดยฉลามวาฬนั้นมีความพยายามสลัดเชือกออกตลอดเวลา แต่ไม่สามารถทำได้ และพบว่าที่บริเวณหางมีบาดแผลค่อนข้างลึก

ทีมงาน

Advertisement

“ทีมผู้เชี่ยวชาญทางทะเลทั้ง 7 คน ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ลงจากเฮลิปเตอร์ บนแท่นขุดเจาะ และดำน้ำตามเจ้าจุด หรือฉลามวาฬโชคร้ายตัวนั้น พร้อมกับทีมนักดำน้ำของบริษัท MUBADALA เพราะคลื่นและลมบริเวณทะเลอ่าวไทยเวลานี้ค่อนข้างแรง โดยนักชีวะวิทยาในทีม พยายามดูพฤติกรรมของฉลามวาฬในการว่ายน้ำ หลังจากนั้น ก็ให้สัตวแพทย์ เข้าไปตรวจดูบาดแผล โดยทีมนักดำน้ำของ MUBADALA เป็นผู้เข้าไปปลดเชือกที่รัดอยู่ที่บริเวณหาง โดยสัตวแพทย์ได้เอายาฆ่าเชื้อและลดอักเสบเข้าไปทาให้”ผศ.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ครั้งนี้ ถือเป็นการเข้าไปช่วยเหลือฉลามวาฬที่ได้รับบาดเจ็บกลางทะเลครั้งแรก และไม่มีให้เห็นบ่อยนัก ที่มีการทำงานเป็นทีม และประสบความสำเร็จสามารถช่วยเอาเชือกออกจากหางปลาได้ เบื้องต้นคาดว่า เป็นเชือกจากอวนหาปลา ที่เชือกมีเพรียงหัวหอม เกาะติดอยู่ ซึ่งเพรียงหัวหอมนั้นเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างโตเร็ว คิดว่าฉลามวาฬตัวนี้ น่าจะถูกเชือกรัดติดหาง ไม่นานนัก ดูจากบาดแผล พบแผลค่อนข้างลึก แต่มั่นใจว่า หลังจากให้ยาฆ่าเชื้อและแก้อักเสบไปแล้วอาการจะค่อยๆดีขึ้น โดยหลังจากนี้ ทางนักดำน้ำจากบริษัท MUBADALA จะเฝ้าดูพฤติกรรม ของเจ้าจุด หรือฉลามวาฬตัวนี้ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และทช.คอยให้คำปรึกษา

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ฉลามวาฬ ถือเป็นปลาเพียงตัวเดียวในบรรดาสัตว์สงวนจำนวน 19 ชนิด ของประเทศไทย เป็นสัตว์หายากที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยจากข้อมูลของ ทช.พบว่า ล่าสุดมีการสำรวจประชากรของฉลามวาฬในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน คาดว่ามีประมาณ 100 ตัว ทั้ง 2 พื้นที่ที่น่าจะมีปริมาณครึ่งต่อครึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image