สธ.เผย ‘ไข้หวัดใหญ่’ หายเอง 1-2 สัปดาห์ ชี้ ‘ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง’ พบน้อย

แฟ้มภาพ

ตามที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงขึ้น โดยพบว่าบางรายมีภาวะของไข้สมองอักเสบถึงขั้นเสียชีวิต โดยในปี 2560 เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย แม้ล่าสุดจะออกมาย้ำว่าไม่ได้ต้องการให้ประชาชนแตกตื่น เพียงแค่ต้องการแนะแพทย์ให้สังเกตความรุนแรงของโรค และแจ้งมายังสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เนื่องจากมีความร่วมมือในการเฝ้าระวังภาวะดังกล่าวนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ( EOC) ร่วมกับผู้บริหารกรมฯ โดยหารือประเด็นการควบคุมป้องกันโรคจากน้ำท่วม และสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งภายหลังการประชุมได้จัดทำเป็นข้อมูลเผยแพร่แทน ดังนี้ สถานการณ์ของโรคตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2560 พบผู้ป่วย 3,125 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ อายุที่พบมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 25-34 ปี รองลงมาคือ อายุ 35- 44 ปี และอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ลำพูน เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก โดยสายพันธุ์ที่พบบ่อยคือ Influenza A (subtype H1N1), Influenza A (subtype H3N2) และ Influenza B

ทั้งนี้ ปกติแล้วไข้หวัดใหญ่จะหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม/ระบบประสาท/ทางสมอง/กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ หากป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีไข้ ไอ ปวดตามตัว หรือมีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ ยังคงเป็น 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ทุกคน 3.ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น และ 4.ผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป

โดยการป้องกันที่ดีที่สุด ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ประกอบด้วย 1.ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม 2.ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ 3.เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงคลุกคลีผู้ป่วย และ 4.หยุด คือ เมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image