กรมสวัสดิการฯ ชี้ นายจ้างไม่มีสิทธิต่อรองจ่ายชดเชยกรณี ‘เลิกจ้าง’

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพนักงาน บริษัท เอเชี่ยนเคมีคัล แอนด์ เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟเบอร์กล๊าส ร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากนายจ้างประกาศปิดกิจการ แต่จ่ายเงินชดเชยให้เพียงร้อยละ 50 ว่า ในเรื่องนี้นายจ้างไม่สามารถต่อรองลดการจ่ายเงินค่าชดเชยให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ดังนั้น กรณีนี้ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานจังหวัด ออกคำสั่งเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามระเบียบการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด ภายใน 30 วัน แต่ถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะถือว่า เป็นการขัดคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และสามารถดำเนินการเอาผิดนายจ้างได้ตามกฎหมายอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำและโทษปรับ

“เชื่อว่า เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดี นายจ้างส่วนใหญ่จะยอมจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย และเมื่อมีการขัดคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเกิดขึ้น นายจ้างจะต้องถูกเปรียบเทียบปรับนอกเหนือจากเงินชดเชยลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายอภิญญา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุว่า ลูกจ้างที่อายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน ลูกจ้างที่อายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน ลูกจ้างที่อายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน ลูกจ้างที่อายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน ขณะที่สิทธิผู้ประกันตน กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image