สดร.ร่วมมือ NASA สนับสนุนภารกิจจูโน เก็บข้อมูลดาวพฤหัสบดี (ชมภาพ)

สดร. ใช้ 2 กล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาวแห่งชาติ ร่วมนาซาเก็บข้อมูลดาวพฤหัสบดี สนับสนุนภารกิจจูโน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และ นายคริสโตเฟอร์ โก (Christopher Go) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวฟิลิปปินส์ ผู้มีผลงานก้องโลกในการค้นพบจุดแดงน้อยบนดาวพฤหัสบดี พร้อมด้วยทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ สดร. ร่วมเก็บข้อมูลทางกายภาพของดาวพฤหัสบดี จากกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และกล้องโทรทรรศน์ 0.7 เมตร หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนโครงการศึกษาดาวพฤหัสบดีของยานสำรวจอวกาศจูโน เก็บข้อมูลในช่วงเวลา 03.00-06.30 น. ของวันที่ 1 และ 2 กุมภาพันธ์ หลังจากนี้จะทำการประมวลผลข้อมูลและนำส่งให้ JPL (Jet Propulsion Laboratory) (NASA) เพื่อนำไปศึกษาและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของยานอวกาศจูโนต่อไป

 นายศรัณย์  โปษยะจินดา
นายศรัณย์ โปษยะจินดา

นายศรัณย์ โปษยะจินดา เปิดเผยว่า ยานสำรวจอวกาศจูโนถูกส่งออกจากโลกไปเมื่อ 5 สิงหาคม 2011 และเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2016 มีแผนจะโคจรรอบดาวพฤหัสบดี 33 รอบ ภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี มีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาโครงสร้างภายในของดาวพฤหัสบดี และทำความเข้าใจการเกิดและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ดวงนี้ ศึกษาใต้ชั้นเมฆที่ปกคลุมดาวพฤหัสบดี ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงการเกิดระบบสุริยะได้ นอกจากนี้ความเข้าใจถึงดาวพฤหัสบดีอย่างละเอียดจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายดาวพฤหัสบดีได้

รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า การโคจรเฉียดดาวพฤหัสบดีในระยะที่ใกล้ที่สุดของการโคจรแต่ละรอบที่ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร ทำให้จำเป็นต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งบนยานอวกาศจูโน เช่น วัดสนามแรงโน้มถ่วง การวัดการปล่อยไมโครเวฟซึ่งจะทำให้เข้าใจโครงสร้างภายในของดาวพฤหัสบดีว่าเป็นของแข็ง ของเหลว หรือไม่มีแกนกลางเลย วัดการเกิดรังสีอัลตราไวโอเล็ต ศึกษาการเกิดออโรราบนดาวพฤหัสบดีว่ามีความสัมพันธ์กับลมสุริยะหรือสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดีอย่างไร

Advertisement

“ตลอดการปฏิบัติภารกิจของยานอวกาศจูโน JPL (Jet Propulsion Laboratory, NASA) ได้ขอความร่วมมือจากหอดูดาวต่างๆ ทั่วโลก ที่มีกล้องโทรทรรศน์ขีดความสามารถสูง บันทึกภาพดาวพฤหัสบดีในช่วงก่อนและหลังที่ยานอวกาศจูโนจะเข้าไปเฉียดดาวพฤหัสบดีในแต่ละรอบของการโคจรสำรวจ ซึ่งการโคจรเฉียดดาวพฤหัสบดีในรอบวงโคจรนี้ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2560 ประเทศไทยอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากอยู่ตรงกับตำแหน่งเป้าหมายที่ยานอวกาศจูโนจะเก็บข้อมูลบนดาวพฤหัสบดี ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากยานอวกาศจูโนต่อไป”นายศรัณย์ กล่าว

S__8610006

กล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนทท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลดาวพฤหัสบดีร่วมกับยานอวกาศจูโนในรอบวงโคจรนี้ นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับงานวิจัยดาราศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

Advertisement

ส่วน ยานอวกาศจูโน เป็นยานอวกาศพลังงานแสงอาทิตย์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) มีภารกิจหลักในการศึกษาดาวพฤหัสบดี และเป็นยานอวกาศลำที่สองที่มนุษย์ส่งไปโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ก่อนหน้านี้ยานกาลิเลโอได้โคจรรอบดาวพฤหัสบดีอยู่นานถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 1995-2003 ส่วนยานลำอื่นๆ เพียงแค่บินเฉียดเข้าใกล้แล้วผ่านเลยไป ยานอวกาศจูโน โคจรรอบดาวพฤหัสบดีแบบ Polar orbit เป็นการโคจรผ่านขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวเคราะห์เป้าหมายเป็นวงรีที่มีความรีสูงมาก เหตุที่ต้องโคจรในลักษณะดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้ยานอวกาศสัมผัสกับสนามแม่เหล็กอันเข้มข้นของดาวพฤหัสบดี นานเกินไป จนทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมทั้งโซลาร์เซลล์เกิดความเสียหาย และเนื่องจากยานอวกาศจูโนโคจรในแนวขั้วเหนือ-ใต้จึงทำให้รับพลังงานสนามแม่เหล็กจากดาวพฤหัสบดีน้อยกว่ายานกาลิเลโอที่เคยโคจรในแนวเส้นศูนย์สูตร หนึ่งรอบการโคจรใช้เวลาประมาณ 14 วัน และจะโคจรรอบดาวพฤหัสบดีทั้งหมด 33 รอบเพื่อเก็บข้อมูลจนเสร็จสิ้นภารกิจ

S__8610007

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image