สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินตอบโต้กรณี “แคดเมียม” หลังกระจาย 4 จว.

สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินตอบโต้กรณี “แคดเมียม” หลังกระจาย 4 จว. กรมอนามัย ยันน้ำประปาบางซื่อไม่ปนเปื้อน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ PHEOC กรณีกากแคดเมียม โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยกล่าวว่า สถานการณ์การพบกากแคดเมียมขณะนี้กระจายไปหลายจังหวัด ตั้งแต่ตาก สมุทรสาคร ชลบุรี ล่าสุด กรุงเทพมหานคร และยังมีที่ตามไม่พบอีกจำนวนหนึ่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีแคดเมียม ขึ้นที่ส่วนกลาง พร้อมกับให้ทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเปิดศูนย์ PHEOC ทันที เพื่อประสานการดูแลผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นระบบ

นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ที่ประชุม PHEOC ได้กำหนดมาตรการรองรับด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเฝ้าระวังผลกระทบ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยร่วมบ้านกับคนทำงานในโรงงาน หรืออาศัยในบ้านที่มีการทำงานสัมผัสแคดเมียม, กลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีโอกาสในการรับสัมผัสสูง โดยตรวจวัดสิ่งแวดล้อมพบว่าเกินมาตรฐาน และอยู่ใกล้โรงงานที่มีกระบวนการผลิตเกี่ยวกับแคดเมียม และกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือ ผู้มีโรคประจําตัว อาทิ โรคไต 2.ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถส่งตัวอย่างที่สงสัยมาทำการตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแต่ละแห่งสามารถรองรับการตรวจได้ 50 ตัวอย่างต่อวัน

3.ด้านการรักษาพยาบาล ให้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ดูแลคัดกรองด้านสุขภาพกาย และทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ รวมทั้งให้คำแนะนำการงดแชร์ข่าวสารข้อมูลเท็จต่างๆ เพื่อลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชน ตลอดจนเปิดให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และการตรวจเช็คสุขภาพใจในสภาวะวิกฤตเบื้องต้นด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MENTAL HEALTH CHECK-IN และ 4.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จะมีทีม SEhRT ของกรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางแผนเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชน และอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง เน้นการตรวจวิเคราะห์สารแคดเมียมและสังกะสีปนเปื้อน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน รวมทั้งเก็บตัวอย่างอาหาร พืชผักที่จำหน่ายในตลาด เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนในแหล่งอาหาร ตลอดจนสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพให้กับประชาชนด้วย

Advertisement

ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทางทีม SEhRT ของกรมอนามัยและสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ร่วมปฏิบัติการกับสำนักงานเขตบางซื่อ กรมควบคุมโรค และกรมควบคุมมลพิษ และศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง เพื่อทำการประเมินความเสี่ยง ทั้งด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน พบว่า น้ำทิ้งจากโรงงานดังกล่าวถูกปล่อยเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครทำให้ไม่มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในแหล่งน้ำสาธารณะ จึงได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำใช้ของประชาชนโดยรอบโรงงาน และภายในโรงงานดังกล่าวผลยืนยันแล้วว่าไม่พบสารแคดเมียมในน้ำอุปโภค บริโภค จึงขอแจ้งให้ประชาชนมั่นใจในในการใช้น้ำได้อย่างปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียม ทั้งนี้ ทีม SEhRT ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้มีการสื่อสารประชาชนให้มีความรู้เรื่องอันตรายจากการรับสัมผัสสารแคดเมียม และเข้าใจต่อสถานการณ์ พร้อมแจ้งให้ประชาชนดูแลตนเอง และครอบครัวสามารถป้องกันตนเองจากความเสี่ยงสุขภาพ หากพบความผิดปกติทั้งสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และผลทางสุขภาพให้รับแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image