ฝุ่นเชียงใหม่ยังทรง ใกล้หมดฤดูกาลเผาแล้ว

ฝุ่นเชียงใหม่ยังทรง ใกล้หมดฤดูกาลเผาแล้ว

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เชียงใหม่ รายงานพบจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 17 เมษายน รอบเช้า จำนวน 5 จุด ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 2 จุด แม่วาง 2 จุด และเชียงดาว 1 จุด โดยรอบเช้าจะน้อยกว่ารอบบ่ายและคาดว่า เชื้อเพลิงใกล้จะหมดลงและน่าจะสิ้นสุดฤดูฝุ่นในไม่ช้านี้ ซึ่งจากการตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศจาก AirViual พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ยังติดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก วัดได้ 158 ในขณะที่ค่า PM2.5 ยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง

โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ รายงานค่าอัตราการระบายอากาศที่วิเคราะห์ได้จากข้อมูลการตรวจอากาศชั้นบน ในพื้นที่ภาคเหนือพบว่า อัตราการระบายอากาศช่วงกลางคืนถึงช่วงเช้า อยู่ในเกณฑ์ระบายได้น้อย-ปานกลาง ส่วนในช่วงบ่ายอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อากาศร้อนจัด ฟ้าหลัว ยังคงมีฝนฟ้าคะนองแต่ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น

นายบัณรส บัวคลี่ ฝ่ายประสานงานด้านยุทธศาสตร์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ฝุ่นต้องกระจายอำนาจ หรือรวมศูนย์อำนาจ มีข้อถกเถียงว่าจะแก้ฝุ่นควันต้องกระจายอำนาจ เพราะรัฐไทยรวมศูนย์ ก็ต้องให้ อปท. หรือท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการไฟ ต้องเอาแผนชุมชนไปรวม มันไม่ใช่แค่นี้หรอก นี่มันเสี้ยวเดียวของปัญหาใหญ่ทั้งระบบ เพราะฝุ่นควันที่เป็นภาพใหญ่ มันรวมถึงโรงงาน จราจร รถยนต์ ไร่อ้อย นาข้าว เกษตรในป่า เอาเข้าจริง จะกระจายอำนาจให้ อปท. ช่วยกันดูแลป่า 6 แสนไร่ แห่งละเสี้ยวๆ เฉือนแบ่งไปดูแล ก็ไม่ใช่อีก หรือมีอีกทางของข้อเสนอ ต้องมีคณะกรรมการใหญ่มีอำนาจเต็มพิเศษ มาจัดการ อันนี้คือ รวมศูนย์สุดยอดขึ้นไปอีก เพราะปกติรัฐไทยก็รวมศูนย์อยู่แล้ว อำนาจเต็มพิเศษ แปลว่า ต้องเหนือกว่า อำนาจปกติของ กนอ.ไร่อ้อย กระทรวงคมนาคม กรรมการยานยนต์ ต้องเหนือคณะกรรมการข้าว กรมการข้าว ต้องเหนือกว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อสั่งให้แก้

Advertisement

“มันก็รวมศูนย์สุดโต่งที่ไปกันใหญ่ เพราะเอาเข้าจริงก็จะไม่มีมือไม้ ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ เวลาพูดเรื่องกระจายอำนาจ มันพูดได้เสมอ ยกตัวอย่างเสี้ยวๆ ฟังดูดี แต่ไม่ตอบโจทย์ในการปฏิบัติจริง ของปัญหาใหญ่ทั้งกระดาน หรือจะบอกว่าให้ตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจเต็ม จะให้เต็มขนาดไหนครับ ฝุ่นควันที่เรื้อรังมายาวนาน เหตุปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่สำคัญมากคือ ระบบราชการไทยเรานี่แหละ มันเป็นตัวปัญหาเสียเอง มันรวมแบบแยกส่วน ทำงานกันคนละส่วน นี่คือโจทย์ปัญหาใหญ่ของการออกแบบแก้ปัญหาทีเดียว ผมกังวลข้อนี้ใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพราะลำพังแค่ให้ประกาศเขตพิเศษอะไรสักอย่าง ให้อำนาจเพิ่ม มันก็วนกลับมาสู่กรอบเดิมๆ ไม่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยหรือกฎหมายแบบเดียวกัน”

นายบัณรสกล่าวว่า อำนาจแบบไหน ที่จะแก้วิกฤตเรื้อรังที่ครอบคลุมโครงสร้างใหญ่ของประเทศแทบทุกเซ็กเมนต์ การผลิต เกษตร ป่า จราจร คำตอบคือ อำนาจที่อำนวยให้กลไกที่มีอยู่ทำงานโดยไม่ติดเงื่อนไขราชการแบบเดิมๆ หน่วยอื่นข้ามไปทำไม่ได้ ไม่มีภารกิจ ไม่มีอำนาจหน้าที่ ก็ไม่มี และอำนวยให้แต่ละองค์กรตามภารกิจเดิมเพิ่มเป้าหมายเรื่องการปล่อยมลพิษอากาศในกิจการของตน อย่าไปติดกับดัก กระจายอำนาจดีกว่าหรือรวมศูนย์อำนาจดีกว่ากัน เพราะต่างก็ไม่ได้แก้ที่ปม อันหนึ่งยิ่งติด อันหนึ่งยิ่งหลวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image