สธ. เร่งสอบสวนโรค “คลัสเตอร์ปาร์ตี้โฟมสงกรานต์” คาดติดเชื้อ ‘ไวรัสโรต้า’ ลุ้นผลตรวจแล็บจันทร์นี้

สธ. เร่งสอบสวนโรค “คลัสเตอร์ปาร์ตี้โฟมสงกรานต์” คาดติดเชื้อไวรัสโรต้า ลุ้นผลตรวจแล็บจันทร์นี้ สสจ.สั่งขยายวงเฝ้าระวังทุก รพ.ในสุพรรณบุรี  

เมื่อวันที่ 20 เมษายน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ปกครองที่พาบุตรหลาน ไปเล่นปาร์ตี้โฟมในงานสงกรานต์ จ.สุพรรณบุรี ต่อมาในวันที่ 17 เม.ย. พบว่าเด็กเข้ารับการรักษาอาการ ถ่ายท้อง ท้องเสีย เวียนหัว ไข้สูง อาเจียน และ มีผื่นขึ้นตามตัว เป็นจำนวนมาก ที่โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยายมราช โดยล่าสุด วันนี้ ยอดเด็กป่วยและเข้ารับการรักษาที่ รพ.เจ้าพระยายมราช และ รพ.เอกชน รวม 65 ราย ว่า เบื้องต้นทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการสอบสวนโรคพร้อมขยายผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วงในช่วง 3 – 7 วันในทุก รพ. ทั้งจังหวัด อย่างไรก็ตามพบว่า การตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) ซึ่งในการวินิจฉัยโรค เมื่อมีผลบวกแล้วกับไวรัสโรต้า (Rotavirus) ก็จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ซ้ำเพื่อยืนยันผล ทาง สสจ.สุพรรณบุรี จึงเก็บตัวอย่างส่งไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว คาดว่าจะทราบผลในวันจันทร์นี้ (22 เม.ย.)

นพ.ธงชัยกล่าวต่อว่า ข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการอาเจียน ร้อยละ 93.33 รองลงมา ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว และปวดท้อง โดยมีประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วย จ.สุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยทันทีที่ได้รับแจ้งข้อมูลทาง สสจ. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำเพื่อส่งตรวจแล็บด้วย ทั้งนี้ ผลการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น พบว่าจุดเสี่ยงคือการสัมผัสจุดเสี่ยงร่วมกันภายในงานสงกรานต์ซึ่งจัดขึ้นบริเวณศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอาหารและน้ำบริโภคที่นำมาจำหน่ายในงาน หรือจากการสัมผัสฝอยละอองน้ำที่นำมาเล่นสาดน้ำ หรือฝอยละอองน้ำที่ปล่อยจากท่ออุโมงค์น้ำ และปลายสายยางที่ใช้ผสมโฟม ซึ่งมีการใช้น้ำจากคลองในบริเวณที่จัดงานมาเล่นสาดกัน จึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจากฝอยละอองน้ำพลัดเข้าสู่ทางเดินอาหาร หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาดภายในงานและทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วง 3 วันดังกล่าว มีจำนวนมาก กระจายในทุกอำเภอ จึงอาจพบผู้ป่วยกระจายในหลายพื้นที่ ในระยะ 3 – 7 วันนี้ ซึ่งทาง สสจ. จะเร่งสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทั่วไปสังเกตอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และให้มาพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image