ผ่าทางตัน ปัญหาช้างป่า

โดย นฤมล รัตนสุวรรณ์

เมื่อพิมพ์คำว่า “ช้างป่า” ในอินเตอร์เน็ต ชวนประหลาดใจยิ่งนัก เพราะผลการค้นหาส่วนใหญ่ปรากฏให้เห็นเพียงไม่กี่คำ เช่น คำว่า “อาละวาด” “คลั่ง” ไม่ก็คำว่า “บุก” แม้ความหมายของช้างป่าแท้จริงนั้น หมายถึง ช้างที่อาศัยอยู่ในป่าซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยชอบธรรม ต่างจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันเพราะจำนวนช้างป่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและตะเข็บชายแดนลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย แต่ในเรื่องร้ายมักมีเรื่องดีเสมอเพราะการรายงานข่าวช้างป่าอย่างหนักหน่วง ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชาชนหันมาสนใจประเด็นช้างป่ามากขึ้น ขณะเดียวกันสถานการณ์ช้างป่าทวีความรุนแรงขึ้นเช่นกัน แม้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นมูลเหตุสำคัญก็ตาม

จากการเข้าร่วม “ประชุมเชิงปฏิบัติการสถานการณ์ปัญหาและแนวทางการจัดการช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานโครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบการจัดการพื้นที่คุ้มครอง (CATSPA) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ภายในงานมีการจัดเวทีสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “ผ่าทางตัน… ปัญหาช้างรุกคน คนรุกป่า” หนึ่งในนั้นคือ รศ.นริศ ภูมิภาคพันธ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องทางออกช้างป่าได้อย่างน่าสนใจ
IMG_6627

บนเวทีเสวนาฯ รศ.นริศ เล่าถึงการแก้ปัญหาช้างป่าโดยการรักษาสมดุลเชิงนิเวศและเชิงสังคม ว่า ช้างป่ามีบทบาทและคุณค่าในเชิงนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะช้างป่าจะสร้างทางด่านสัตว์ เปิดและรักษาแหล่งโป่งธรรมชาติ ในช่วงหน้าแล้งช้างป่าจะใช้เท้าขุดหาแหล่งน้ำ เกิดการกระจายพันธุ์พืชจากการดึง โค่นไม้ผลล้มและมูลช้างก็เป็นแหล่งรองรับการงอกของเมล็ดป่า เป็นปุ๋ยพืชให้แก่พืชพรรณและเป็นอาหารของด้วง แมลง แบคทีเรียและแม้กระทั่งเห็ดรา ทำให้เกิดความสมดุลของประชากรช้างป่าและสัตวป่าชนิดอื่น เว้นแต่จำนวนช้างจะมีมากเกินไปก็จะเกิดการย้อนกลับ ช้างอาจทำให้ป่าทรุดโทรมได้ เช่น ช้างป่าในแอฟริกา

Advertisement

ปัญหาช้างป่านับวันมีแนวโน้มมากขึ้นเห็นได้จากภาพข่าวที่ได้ยินเกือบแถบทุกสัปดาห์ เพราะการเข้ามาอยู่และใช้พื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างช้างป่ากับคน นำไปสู่ความขัดแย้งทั้งเรื่องการสูญเสียทรัพย์สิน พืชพันธุ์เกษตรและชีวิตของประชาชน ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสูญเสียช้างเช่นกัน

“แม้จะมีการประกาศพื้นที่ธรรมชาติธรรมชาติที่เหลืออยู่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรืออุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ภูเขา ป่าน้ำลำธารซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน แต่ลืมความต้องการของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ต้องการพื้นที่ราบ อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ แหล่งพืชอาหารธรรมชาติและแร่ธาตุดินโป่ง ช้างจึงต้องออกหาอาหารนอกพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าเราไม่เคยวางแผนในการใช้พื้นที่ เอาแต่ประกาศอย่างเดียวโดยไม่ได้วางแผนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการคุ้มครองและดูแลทรัพยากรเลย”

ดังนั้น ทำให้การแก้สถานการณ์ช้างป่าในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องยุ่งยากที่ต้องตามแก้ตลอดเวลา หากต้องแก้ไขอาจไม่มีสูตรตายตัว เพราะปัญหาและพฤติกรรมช้างป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฉะนั้น ต้องมีทั้งการแก้ปัญหาโดยแผนระยะสั้น คือ “การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ หรือ Learning by doing” ปรับแก้จุดอ่อนจากข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น และแผนระยะยาว คือ การสร้างความรู้และความเข้าใจของคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกันกับช้างป่าได้ จัดหาแหล่งน้ำแหล่งอาหารและเร่งให้มีการเชื่อมต่อพื้นที่อนุรักษ์เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับช้างป่าเป็นสิ่งสำคัญ

Advertisement

“เราพบว่าคนส่วนใหญ่ มักจะโยนปัญหาไปที่ช้าง ไปที่เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั้นหมายความว่า ชุมชนขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องช้างป่าอย่างชัดเจน จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องแก้”

สอดคล้องกับนายอนุชิต แตงอ่อน ผู้อำนวยการส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์เกิดขึ้นเพราะพื้นที่หากินของช้างป่าถูกมนุษย์รบกวน ผืนป่าที่เป็นพื้นที่ราบถูกประชากรบุกรุกทำลายและส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่ทำกิน แม้เดิมทีเคยเป็นที่อาศัยของช้างก็ตาม รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์เองก็ตั้งอยู่บนภูเขา ทำให้แหล่งอาหารแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ขาดคุณภาพและการกระจายไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ เป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของช้างป่าอยู่แล้วที่จะต้องหากินหาแหล่งอาศัย หรือกลุ่มประชากรใหม่ตามธรรมชาติ เช่น ถ้าเกิดโคลงใหญ่เกินไปก็จะแยกโขลง เพื่อหาพื้นที่อาศัยแหล่งใหม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นทางกรมอุทยานฯเองก็ได้มีการวางแผนเพื่อจัดการปัญหาอยู่แล้วทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว

“การให้ความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนว่าทำอย่างไรจะทำให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ยั่งยืนแล้วป้องกันตัวเองของกลุ่มประชาชนในกลุ่มชาวบ้านแต่ละหมู่ ให้สามารถที่จะดูแลตัวเองและเรียนรู้ที่จะอยู่กับช้างได้อย่างไร” นายอนุชิต ฝากทิ้งท้าย

อาจกล่าวได้ว่า ทางออกของปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ที่ต้องเร่งแก้ในตอนนี้ คือ การเพิ่มแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร การเชื่อมต่อพื้นที่อนุรักษ์ และการสร้างความรู้ความเข้าใจในชุมชนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้ แม้ไม่รู้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วแค่ไหนแต่เร่งแก้ก่อนหน้าแล้งมาถึงก็ดี เพราะคาดว่าปีนี้จะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ส่งผลให้แหล่งน้ำของช้างป่าแห้งขอดและแหล่งอาหารไม่เพียงพอ จนอาจเกิดสิ่งที่น่ากังวล คือ ปรากฏการณ์ช้างป่าจำนวนมากจะออกนอกพื้นที่อนุรักษ์และซ้ำเติมปัญหาช้างป่าในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image