โลกยกย่อง”ดาราศาสตร์ไทย”สุดยอด พบดาวเคราะห์บริวารถูกแรงโน้มถ่วงฉีกสลายเป็นกลุ่มก๊าซ

ภาพจำลองเศษดาวเคราะห์รอบดาวแคระขาว (ภาพจาก : http://cdn4.sci-news.com/)

รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า วงการดาราศาสตร์ไทย ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ สำหรับการทำงานวิจัยด้านดาราศาสตร์อีกครั้ง หลังจากร่วมกับมหาวิทยาลัยวอร์ริค สหราชอาณาจักร นำโดย ดร.บอริส แกนซิเก และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ และสถาบันดาราศาสตร์แห่งสเปน ร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์ไทย ประกอบด้วย ผศ.ดร. อมรรัตน์ อังเวโรจน์วิทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นส.ศิรินภา อาจโยธา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ นายสมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ สดร. ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ของมหาวิทยาลัยวอร์ริค ณ เกาะลาพัลมา ประเทศสเปน ร่วมกันศึกษาติดตามดาวเคราะห์บริวารถูกแรงโน้มถ่วงสลายมวลเมื่อเข้าใกล้ดาวแม่ซึ่งเป็นดาวแคระขาว มีชื่อว่า ดาว WD 1145+017 (WD คือ White Dwarf หรือ แคระขาว และตัวเลขหมายถึงตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้า) ซึ่งถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ดาวแคระขาวนี้ อยู่ห่างจากโลกเพียง 570 ปีแสงเท่านั้น

“ปรากฏการณ์นี้สังเกตได้ยากมาก เพราะดาว WD 1145+017 มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ แต่ขนาดเล็กใกล้เคียงกับโลกเท่านั้น วัตถุที่มวลหนาแน่นเช่นนี้จะมีแรงโน้มถ่วงมหาศาล ดึงดูดดาวเคราะห์บริวารเข้ามาใกล้ จนกระทั่งแรงโน้มถ่วงเริ่มฉีกมวลของดาวเคราะห์จนแตกเป็นกลุ่มก๊าซและเศษมวลของดาวเคราะห์ กระจายอยู่ในวงโคจรเป็นแผ่นวงแหวนรอบดาวแคระขาว ท้ายที่สุด ดาวเคราะห์นี้อาจจะแตกสลายจนหมดทั้งดวง และถูกดึงดูดเข้าสู่ดาวแคระขาวจน ไม่เหลือร่องรอยใด ๆ “รศ.บุญรักษา กล่าว

รศ.บุญรักษา กล่าวว่า การสังเกตการณ์ครั้งนี้ ทีมวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่ติดเครื่องอัลตราเสปก ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพซีซีดีความเร็วสูง ใช้ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของกราฟแสงของระบบดาว พบว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดธรรมดา เพราะนักดาราศาสตร์เพิ่งตรวจสอบว่าดาว WD 1145+017 มีค่าความสว่างผิดปกติเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว จึงเริ่มศึกษาโดยละเอียด โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน – 25 ธันวาคม 2558 พบว่า แสงของดาวแคระขาวลดลงหลายช่วง เนื่องจากเศษดาวเคราะห์ที่แตกออกถึง 6 กลุ่ม เคลื่อนที่ทยอยบังดาวแม่เป็นช่วง ๆ เศษดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวแคระขาวนี้มีคาบการโคจร 4.5 ชั่วโมง ปกติแล้วนักดาราศาสตร์จะศึกษาปรากฏการณ์เช่นนี้ต้องใช้เวลานับสิบปี แต่ดาว WD 1145+017 ดูดกลืนมวลของดาวเคราะห์บริวารนี้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นจุดจบของดาวเคราะห์แบบวันต่อวัน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญในการติดตามศึกษาระบบวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ เนื่องจากดาวฤกษ์ส่วนใหญ่รวมทั้งดวงอาทิตย์ จะกลายเป็นดาวแคระขาวเมื่อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมดลง การค้นพบในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจระบบวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ได้มากยิ่งขึ้น

รศ. บุญรักษา กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นบทความเด่นที่สมาคมดาราศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกานำมาเผยแพร่ตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศของไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ที่มีคุณภาพระดับโลก สามารถรองรับงานวิจัยดาราศาสตร์ขั้นสูงได้เช่นเดียวกับหอดูดาวแนวหน้าในต่างประเทศ จนได้รับการรับรองจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโกแห่งแรกของโลก เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา

Advertisement

“อนาคตของวงการดาราศาสตร์ไทยยังไปได้ไกลอีกมาก เครื่องมือและปัจจัยพื้นฐานด้านดาราศาสตร์เรามีครบถ้วน แต่ยังขาดบุคลากร นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาที่มีใจรักดาราศาสตร์ เลือกศึกษาต่อด้านดาราศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมีเปิดสอนแล้วในหลายมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ สดร. สนับสนุนทุนการศึกษาและวิจัย รวมทั้งความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสสร้างผลงานวิจัยดาราศาสตร์ และเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับผลงานของทีมวิจัยจากประเทศอังกฤษที่ ใช้หอดูดาวแห่งชาติของเราสร้างงานวิจัยระดับโลกได้ในครั้งนี้ “รศ.บุญรักษา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image