สธ.ตั้ง กก.หาคนผิดเอี่ยว บ.วิจัยสหรัฐจ่ายสินบนไทย คาด 30 วันรู้ผล!

แฟ้มภาพมติชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (เอสอีซี) เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ระบุว่าเอสอีซีแจ้งข้อกล่าวหาต่อไบโอ-แร้ด แลโบราทอรีส์ อิงค์ บริษัทวิจัยด้านการวินิจฉัยทางคลินิกและชีววิทยาศาสตร์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ว่าละเมิดรัฐบัญญัติต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ (เอฟพีซีเอ) ด้วยการตกแต่งบัญชีและจัดทำข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมถึงล้มเหลวในการควบคุมการดำเนินกิจการภายในของบริษัท จากการที่บริษัทสาขาย่อยของไบโอ-แร้ดจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่ทางการในรัสเซีย เวียดนาม และไทย เพื่อให้ได้สัญญาทำธุรกิจ ซึ่งตรวจพบการจ่ายเงินสินบนมูลค่าราว 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (262.5 ล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 5 ปี

และตกแต่งบัญชีการใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกต้อง อาทิ ค่าคอมมิชชั่น ค่าโฆษณาและค่าฝึกฝนอบรม ซึ่งการจ่ายเงินสินบนจำนวนนี้ทำให้ไบโอ-แร้ดมีกำไรที่ไม่สมควรจะได้รับ 35 ล้านดอลลาร์ (1,225 ล้านบาท) ทั้งนี้ ไบโอ-แร้ดที่รายงานความผิดปกตินี้ต่อทางการด้วยตนเองและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสอบสวน ยินยอมที่จะจ่ายเงินค่าปรับมูลค่า 55 ล้านดอลลาร์ (1,925 ล้านบาท) เพื่อเป็นการยอมความไม่ให้ถูกเอสอีซีและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายเอฟพีซีเอ

เทกโอเวอร์-จ่ายคอมมิชชั่นสูง

ข้อมูลจากเอกสารของเอสอีซีระบุว่าพนักงานของไบโอ-แร้ดใช้คนกลางท้องถิ่นในเวียดนามและไทยเป็นช่องทางในการจ่ายเงินสินบนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้มาซึ่งสัญญาในการทำธุรกิจ โดยบริษัทสาขาของไบโอ-แร้ดในสิงคโปร์ขายสินค้าให้กับผู้จัดจำหน่ายในเวียดนามในราคาที่ลดลงอย่างมาก โดยส่วนต่างถือว่าเป็นเงินสินบน นอกจากนี้ ไบโอ-แร้ดยังได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทแห่งหนึ่งในไทยและล้มเหลวที่จะตรวจสอบพบว่ามีแผนการจ่ายเงินสินบนอยู่ก่อนแล้ว โดยบริษัทดังกล่าวจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นให้ตัวแทนของไทยในจำนวนที่มากเกินจริง โดยส่วนหนึ่งถือว่าเป็นเงินสินบน

Advertisement

สธ.ตั้ง กก.สอบสินบนยา

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานระบุว่า บริษัทยาและเวชภัณฑ์ยอมรับว่าจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยช่วงปี 2550-2553 ว่า มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปตรวจสอบ หากพบว่าข้าราชการเกี่ยวข้องพร้อมเอาผิดแน่นอน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า มอบหมายให้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. ดูแลเรื่องนี้ โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูแลด้วย โดยต้องตรวจสอบว่ามีประเด็นเรื่องเครื่องมือแพทย์มาเกี่ยวข้องอย่างไร เพราะปกติหากขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ก็ต้องขอทาง อย. แต่กรณีนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นการขอขึ้นทะเบียนหรือเป็นเรื่องการทำสัญญาที่มีข้อสงสัยอย่างไร แต่หากพบว่ามีใครผิด ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริง

Advertisement

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ มี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ของ สธ.เป็นประธาน มีนายวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นรองประธาน และกรรมการอีก 5 คน โดยจะตรวจสอบ 2 เรื่อง คือ 1.กระบวนการจัดซื้อถูกต้องเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ และ 2.เมื่อเปรียบเทียบราคาที่จัดซื้อเป็นอย่างไร ราคาแพงหรือไม่ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นระหว่างปี 2542-2560 พบว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่สัญญากับบริษัทดังกล่าวและบริษัทสาขาในประเทศไทยจำนวน 17 สัญญา วงเงินประมาณ 35 ล้านบาท แยกเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) 6 สัญญา ประมาณ 11 ล้านบาท กรมการแพทย์ 2 สัญญา ประมาณ 3 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 1 สัญญา ประมาณ 1 ล้านบาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 5 สัญญา ประมาณ 10 ล้านบาท และกรมอนามัย 3 สัญญา ประมาณ 10 ล้านบาท

นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยปกติหากไม่เกิน 1 แสนบาทจะใช้วิธีตกลงราคา และเกิน 2 ล้านบาทจะประกวดราคา เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และโดยหลักการในส่วนของ สป.สธ. การจัดซื้อจัดจ้างวงเงิน 50 ล้านบาท ปลัด สธ.จะมอบอำนาจไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และมอบต่อไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่วนกรมต่างๆส่วนใหญ่ อธิบดีก็จะมอบอำนาจไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว

เผยชื่อ 6 รมต. ช่วงปี’50-53

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ภายในกระทรวงเป็นวงกว้างว่าในช่วงปี 2550-2553 เป็นช่วงของรัฐมนตรีคนไหน ซึ่งจากเว็บไซต์ สธ.ระบุว่ามีรัฐมนตรี 6 คนที่อยู่ในช่วงปีดังกล่าว โดยวันที่ 8 ตุลาคม 2549-กุมภาพันธ์ 2551 มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากนั้นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551-กรกฎาคม 2551 มีนายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรี และในปี 2551 มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีอีก โดยในวันที่ 2 สิงหาคม 2551-กันยายน 2551 เป็นนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล

ต่อมา วันที่ 24 กันยายน 2551-ธันวาคม 2551 เป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และวันที่ 20 ธันวาคม 2551 เป็นนายวิทยา แก้วภราดัย เป็นรัฐมนตรี และช่วงเดือนมกราคม 2553-สิงหาคม 2554 มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image